วัส ติงสมิตร ประธาน กสม.

เซ็ตซีโร่หรือไม่เซ็ตซีโร่ เป็นประเด็นโต้เถียงกันต่อไป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กสม.ที่ให้กรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงจะดำเนินการเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมหลายฝ่าย เพื่อให้ สนช. ทบทวน หากไม่เป็นผล อาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สังคมกำลังจับตามององค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ จะปฏิบัติต่อองค์กรอิสระทุกองค์กร โดยเสมอหน้ากันหรือไม่ หลังจากที่มีการโละทิ้ง กกต.ทั้งคณะ ตามด้วย กสม. แต่ สนช.มีมติให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกัน สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน “ฟอกขาว” การจัดซื้อเรือดำน้ำของรัฐบาล

ป.ป.ช.เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งถูกจับตามอง จะโดนเซ็ตซีโร่หรือไม่ หลังจากที่ กกต.โดน ด้วยข้ออ้างว่ากรรมการชุดปัจจุบันขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วน กสม. ถูกเซ็ตซีโร่โดยอ้างว่ากระบวนการสรรหา ไม่หลากหลาย ไม่สอดคล้องหลักการปารีส เป็นครั้งแรกที่อ้างหลักสากล เพื่อกำหนดคุณสมบัติองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไทย

รัฐธรรมนูญใหม่ 2560 มีหลายประเด็นที่ขัดหลักประชาธิปไตยสากลที่ถือปฏิบัติกันทั่วโลก เช่น สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องหลักการปารีส กสม. ชี้แจง ว่าเป็นจากการประชุมวิชาการที่กรุงปารีส 2536 และต่อมาได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ แต่ไม่ใช่พันธกรณีระหว่าง ประเทศ

องค์กรอิสระอาจมีเรื่องขัดใจกับรัฐบาลเป็นธรรมดา โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร เพราะอาจยึดแนวคิดทางการเมืองต่างกัน องค์กรอิสระอย่าง กสม. ยึดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รวมทั้งหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แต่ ฝ่ายรัฐบาลอาจยึดหลักอำนาจและความมั่นคงประเทศ

...

น่าเป็นห่วงว่าหากโละทิ้ง กสม. ทั้งคณะ มีการสรรหาและแต่งตั้งใหม่โดย สนช.และภายใต้รัฐบาล คสช.เราจะได้กรรมการ กสม.ชุดใหม่ที่ยังยึดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือไม่ กสม. ชุดใหม่จะยังสามารถดำรงความเป็นอิสระ และความกล้าหาญที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

หวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยปฏิบัติต่อทุกคนและทุกองค์กรโดยเสมอหน้าไม่เลือกปฏิบัติยึดหลักบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน นั่นคือการปฏิรูปการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนมุ่งหวังจะก้าวไปสู่เป้าหมาย.