ภาพจากแฟ้มภาพ

แจ้งเป็นร้อยโดนจับปรับแล้วนับสิบราย รางวัลนำจับ ขี่ จยย.บนทางเท้า โดยถูกปรับราคาต่ำสุดที่ 500 บาท นอกจากนี้ ยังครอบคลุมทั้งหาบเร่แผงลอยและทิ้งขยะ เงินแบ่งครึ่งๆ กับเทศกิจ รองปลัด กทม. เชื่อได้ผล สามารถป้องปรามการกระทำผิดได้

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 60 นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้รับผิดชอบดูแลสำนักเทศกิจ เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ กรณีเปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสผู้ทำผิด ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด โดยมีการแบ่งเงินรางวัลนำจับครึ่งหนึ่ง ระหว่างเจ้าหน้าที่เทศกิจ และ ผู้แจ้งเบาะแส ว่า ผลตอบรับดี มีประชาชนเริ่มเป็นสมาชิกประมาณ 5 พันเศษ ซึ่งถึงตอนนี้มีส่งเรื่องเข้ามาร้อยกว่าเรื่อง โดยมีการปรับไปแล้ว 10 ราย ซึ่งทั้งหมดคือ การขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า โดยประชาชนที่พบเห็นก็ถ่ายรูปแล้วส่งไลน์มายัง Line : @ebn6703w โดยจะต้องเห็นป้ายทะเบียนชัดเจน ซึ่งเมื่อแจ้งเรื่องเข้ามาก็จะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ ซึ่งดูแลตามพื้นที่ต่างๆ อยู่ จากนั้นก็จะเดินทางเข้ามาทำการปรับทันที ทั้งนี้ หากคนแจ้งไม่อยู่บริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ก็จะตกลงกับผู้แจ้ง เพื่อจะส่งเงินนำจับให้ทางไปรษณีย์ หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร 

“ส่วนการปรับนั้น จะปรับที่ 500 บาท ซึ่งถือเป็นเรตขั้นต่ำที่สุด (ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด สามารถปรับได้ตั้งแต่ 500-10,000 บาท) เงินที่ได้ ประชาชนที่แจ้งเบาะแสจะได้ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเจ้าหน้าที่เทศกิจที่รับผิดชอบได้เงินส่วนนั้นไป เพราะเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ชี้ช่องสำหรับเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีการเขียนเปิดช่องว่างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นผู้ชี้ช่อง ซึ่งก็มีรางวัลนำจับได้ครึ่งหนึ่งของค่าปรับ แต่ที่ผ่านมา เกือบ 30 ปีไม่ค่อยมีการใช้กฎหมาย เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยนั้นแตกต่างกับสมัยนี้ แต่ตอนนี้มันพร้อมทุกอย่าง การแจ้งเอาผิดคนทำผิดมันสะดวกรวดเร็วขึ้น สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลต่างๆ ผ่านออนไลน์ได้ เราจึงได้หยิบเอามาใช้

...

เมื่อถามว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ครอบคลุมเรื่องใดบ้าง นายวันชัย กล่าวว่า 1. กรณีขีดขวางบนทางเท้า เช่น ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า หาบเร่แผงลอย 2. ทำสกปรก เช่น ทิ้งขยะมูลฝอย ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจจะส่งเบาะแส ก็สามารถส่งได้ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยแอดเข้ามาที่ Line : @ebn6703w

หลักฐานที่ต้องการนั้น หากเป็นรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า ต้องถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเห็นทะเบียนรถชัดเจน (ขณะขับขี่) ส่วนกรณี ทิ้งขยะมูลฝอยนั้น ต้องถ่ายรูปให้เห็นหน้า เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบกับทะเบียนราษฎร์ ถึงแม้เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบแต่เราก็พยายามที่จะทำ

รองปลัด กทม. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เจตนารมณ์การใช้กฎหมายฉบับนี้ เราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาด ที่สำคัญ ยังเป็นการป้องปรามให้คนกระทำผิดได้เกรงกลัว และไม่กล้าที่จะกระทำความผิด

สำหรับ หลักเกณฑ์การแบ่งค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบ ดังนี้
1. เป็นผู้แจ้งความนำจับตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร
2. การเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาเป็นผลเนื่องจากการแจ้งความนำจับ
3. ผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ
ขอขอบคุณที่เพิ่ม @รางวัลนำจับ นี้เพื่อแจ้งความนำจับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ

หากประสงค์รับส่วนแบ่งค่าปรับที่ได้รับจากการเปรียบเทียบปรับ กรุณาแจ้งรายละเอียดดังนี้
1. รายละเอียดของผู้แจ้ง ได้แก่ ชื่อ-สกุล /เลขประจำตัวประชาชน
ที่อยู่/ หมายเลขโทรศัพท์

2. รายละเอียดกระทำความผิด ได้แก่ เบาะแสการกระทำความผิด/วันที่/เวลา/สถานที่/รูปภาพ/แขวง/เขต หรือหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในการติดตามผู้กระทำความผิด (ข้อมูลของผู้แจ้ง หรือข้อมูลที่ท่านแจ้งไว้ กทม.จะปกปิดเป็นความลับ)