ผมอ่านวารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับสิงหาคม เรื่อง “ประกันภัยไซเบอร์ ล็อกความเสี่ยงโจรกรรมข้อมูล” มาหลายวันแล้ว อ่านแล้วก็อดนำมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้ วันนี้ การโจรกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์ โจรเรียกค่าไถ่อินเตอร์เน็ต กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมเลยขอชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง การประกันภัยไซเบอร์ เพื่อป้องกันข้อมูลของบริษัทและข้อมูลส่วนตัวกันสักวันนะครับ

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ทุกคนที่ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ข้อมูลส่วนตัวจะไปอยู่ในโลกไซเบอร์ บริษัทที่มีการติดต่อทางอินเตอร์เน็ต มีการใช้ระบบอีเพย์เมนต์ทุกชนิด ข้อมูลก็ไปอยู่ในโลกไซเบอร์เช่นเดียวกัน มีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ทุกเมื่อ

วารสาร “การเงินธนาคาร” รายงานว่า จากข้อมูลของ Hakmagaeddon ซึ่งรวบรวมสถิติอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ระบุว่า มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายที่ถูกโจมตีอันดับ 1 คือ ภาคอุตสาหกรรม 21.5% รองมาคือ ภาครัฐบาล และ บุคคลธรรมดา 16.9% เท่ากัน ภาคอุตสาหกรรมที่ถูกโจมตีมากที่สุดคือ กลุ่มซอฟต์แวร์ การเงิน การธนาคาร การขายตั๋วออนไลน์ บริการทางธุรกิจ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก เป็นต้น แถมยังมี มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ระบาดไปทั่วโลกอีกด้วย

ทำให้ โลกไซเบอร์ ในวันนี้ มีความไม่ปลอดภัย พอๆกับ โลกจริง เลยทีเดียว

ผมไปดูสถิติข้อมูลในโลกไซเบอร์ พบว่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ผลจากอินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง Internet of Things ปี 2016 ที่ผ่านมา มีข้อมูลโลดแล่นอยู่ในโลกไซเบอร์ถึง 16.1 ZB หรือ 16,100 ล้านล้านล้านไบท์ (ล้าน 3 ตัวนะครับ) และทำนายว่า ปี 2025 ข้อมูลในโลกไซเบอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 163 ZB หรือ 163 เซตตาไบท์ เท่ากับ 163,000 ล้านล้านล้านไบท์ เขียนเป็นตัวเลขไม่ถูก จินตนาการไม่ออกว่ามากมายขนาดไหน

...

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์กับ “การเงินธนาคาร” ว่า คปภ.ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยคุกคามของโลกไซเบอร์ จึงได้ออกมาตรการรับมือไว้ทั้งในองค์กรและอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ คปภ.ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยพัฒนา กรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ (Cyber Insurance) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการคุ้มครองความเสียหายจากการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

คปภ. ได้กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัย เช่น ความคุ้มครองจากการหยุดชะงักของธุรกิจ ความเสียหายจากการถูกโจรกรรม การถ่ายโอนข้อมูลที่เป็นการฉ้อฉล หรือผ่านเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงต้นทุนต่างๆ ส่วนที่สองเป็นความคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก เช่น ความรับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงคดีที่ลูกค้าเรียกร้อง เนื่องมาจากความล้มเหลวของระบบความปลอดภัย และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ปัจจุบัน มีบริษัทประกันภัยที่มีกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ 7 แห่ง เช่น ทิพยประกันภัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายทางการเงินของผู้เอาประกันภัยที่เกิดจากการถูกโจมตีระบบ การถูกแอบเข้าระบบ ข้อมูลรั่วไหลสู่บุคคลภายนอก และคุ้มครองถึงบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลที่รั่วไหลด้วย

กรุงเทพประกันภัย ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจ กรณีเกิดข้อมูลรั่วไหล เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล การคุ้มครองความเสียหายจะครอบคลุมตั้งแต่ค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ไปจนถึงการกอบกู้วิกฤติ หรือการกอบกู้ชื่อเสียง เป็นต้น

โลกวันนี้ ยิ่งมีภัยมากขึ้น การประกันภัยก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นไม่แพ้การประกันชีวิต เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตของชีวิตและครอบครัว ผมก็เอามาแชร์เล่าสู่กันฟัง เพื่อเตรียมรับมือกับโลกยุค Internet of Things ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”