นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดงาน “มอบความสุขนี้ให้แม่ : Happiness for Mom” เนื่องในวันแม่แห่งชาติประจำปี 2560 ว่า ในประเทศไทยมีการศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าของหญิงหลังคลอดพบสูงถึงร้อยละ 16.8 ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ซึ่งมีปัจจัย ได้แก่ สุขภาพมารดา ความขัดแย้งระหว่างคู่สมรส และรายได้ไม่เพียงพอ โดยมักมีอาการรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก และจะมีปัญหาในการเลี้ยงดูบุตร เช่น ขาดปฏิสัมพันธ์ กับเด็ก ขาดการแสดงความรัก รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เช่น ใช้อารมณ์กับบุตร โดย พบว่าร้อยละ 41 มีความคิดทำร้ายลูก

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า สถาบันฯได้วิจัยเพื่อพัฒนาและทดสอบ คุณภาพโปรแกรมช่วยเหลือมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดย พญ.วรวรรณ จงสง่าวิทยาเลิศ ซึ่ง พัฒนาโปรแกรมที่ดัดแปลงมาจาก THINKING HEALTHY: A manual for psychosocial management of perinatal depression (2) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีการให้ความรู้ และ แนวทางการปฏิบัติตน ตลอดจนทักษะต่างๆในการดูแลสุขภาพ ทำให้อาการซึมเศร้าของแม่หลังคลอดมีแนวโน้มลดลง.