ผกก.1 บก.จร. ไขข้อข้องใจ เหตุระหว่างปชช. กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเถียงเดือด ปมบรรทุกสิ่งของยื่นล้ำ ต้องหาผ้าคลุมทับอีกทีหรือไม่?...
จากกรณีที่มีการแชร์คลิปเหตุการณ์การ ถกเถียงกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงกรณีรถกระบะ หรือรถปิกอัพขนสิ่งของยื่นล้ำออกจากตัวรถ โดยมีผ้าหรือธงสีแดงติดไว้ให้เห็นชัดเจนแล้ว แต่ผู้ขับขี่จะต้องมีสิ่งปกคลุมสิ่งของที่ขนมาอีกทีหรือไม่? เนื่องจาก พระราชบัญญัติจราจรทางบก (พ.ร.บ.จราจร) มาตรา 20 ระบุเพียงแค่ “ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถบรรทุกคน สัตว์หรือสิ่งของต้องจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้คน สัตว์หรือสิ่งของที่บรรทุก ตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อน หรือปลิวไปจากรถ” ซึ่งตามกฎหมายข้างต้น ไม่ได้มีการระบุไว้เลยว่า จะต้องมี “สิ่งปกคลุม”
ในขณะที่ ในคลิปดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า “รถที่ผู้ถ่ายคลิปบรรทุกสิ่งของมานั้น จะต้องมีสิ่งปกคลุม” ส่วนประชาชนเจ้าของคลิปนั้น ยืนยันว่า “เขามีสิ่งป้องกัน และรัดมาอย่างหนาแน่นแล้ว” แต่คำตอบใดจะถือว่า ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย?
...
ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ พ.ต.อ.ธีระ เถระพัฒน์ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าวว่า แม้ว่าในมาตรา 20 จะไม่มีคำว่า สิ่งปกคลุม แต่ในมาตรา 20 จะมีวรรคหนึ่งที่ระบุว่า ส่องแสงสะท้อน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขับขี่บรรทุกสิ่งของหรือวัสดุที่เป็นกระจก, อะลูมิเนียม ยื่นออกนอกตัวรถ หากเป็นกรณีเช่นนี้ จะต้องมีสิ่งปกคลุม เพื่อป้องกันแสงสะท้อน หรือในกรณีที่สิ่งของนั้นๆ มีโอกาสที่จะปลิวไปจากรถ หากเป็นกรณีเช่นนี้ ก็จะต้องมีสิ่งปกคลุมเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
“หากเป็นวัสดุอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นชิ้น และไม่มีท่าทีว่าจะปลิว หรือส่องแสงสะท้อน และทางผู้ขับขี่ได้ป้องกันด้วยการผูกมัดรัดแน่นอย่างดี ในกรณีเช่นนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งการที่ประชาชนจะบรรทุกสิ่งของยื่นออกนอกตัวรถ จะต้องดูตามพฤติการณ์ด้วย” พ.ต.อ.ธีระ กล่าว
“หากเจ้าหน้าที่ตำรวจในคลิปอธิบายให้ประชาชนทราบว่า ท่อนเหล็กที่เขาบรรทุกมานั้น อาจไปส่องแสงสะท้อนรบกวนผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่น ดังนั้น ประชาชนท่านดังกล่าว ควรที่จะหาผ้าหรืออุปกรณ์อื่นใดมาปกคลุมให้มิดชิด เพื่อป้องกันแสงสะท้อน หากอธิบายเช่นนี้ การถกเถียงกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะไม่เกิดขึ้น” ผกก.1 บก.จร. กล่าว
ทั้งนี้ การบรรทุกของยื่นเกินความยาวของตัวรถ หากเป็นเวลากลางวันต้องติดธงสีแดงเรืองแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 30 ซม. ยาว 45 ซม. ไว้ตอนปลายสุดของสิ่งที่บรรทุก ถ้าเป็นเวลากลางคืนหรือในเวลาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในระยะ 150 เมตร ต้องติดไฟสัญญาณสีแดงที่มองเห็นชัดเจนในระยะ 150 ม. ซึ่งหากคนขับไม่ทำมีสิทธิ์ถูกจับปรับ 1 พันบาทเพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.ธีระ ได้แสดงความเป็นห่วงไว้ว่า การที่ประชาชนบางท่านคิดว่า ตนเองได้ผูกรัดมัดสิ่งของไว้อย่างหนาแน่นแล้ว แต่ตนอยากจะเตือนว่า การผูกรัดมัดของคุณอาจหนาแน่นในแง่ของการขยับซ้ายขวา แต่อาจไม่หนาแน่นในแง่ของการขยับด้านหน้าด้านหลัง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้น มีบทเรียนจากเหตุการณ์ที่รถบรรทุกขนเหล็ก มัดเหล็กไม่หนาแน่นเพียงพอ จนทำให้เหล็กพุ่งเข้าเสียบทะลุกระจกของรถคันหน้า โดยปลายเหล็กได้พุ่งไปกระแทกแผงหน้ารถจนทะลุ แต่ยังโชคดีว่า ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
...
“ดังนั้น ประชาชนที่มีความจำเป็นที่จะต้องบรรทุกสิ่งของยื่นออกนอกตัวรถ ท่านควรระมัดระวังและผูกรัดสิ่งของให้แน่นหนาที่สุดครับ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ และผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่นๆ” ผกก.1 บก.จร. เตือน
*หมายเหตุ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 20 ระบุว่า ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถบรรทุกคน สัตว์หรือสิ่งของต้องจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้คน สัตว์หรือสิ่งของที่บรรทุก ตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อน หรือปลิวไปจากรถอันอาจก่อเหตุเดือดร้อน รําคาญ ทําให้ทางสกปรก เปรอะเปื้อน ทําให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน.
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก เฟซบุ๊กมงคล บุญศักดิ์เลิศวทยา, ทวิตเตอร์ @chetmaitree