ร.ล.สุรินทร์ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ของ ทร. แล่นลอดสะพานกรุงเทพ ที่ปิด-เปิดได้ แต่ไม่พ้นชนเสากระโดงสูงที่ยอดมีเสาวิทยุเกี่ยวกับพื้นที่สะพานที่ยกทำมุมเฉียง จนหักโค่นลงมา สาเหตุยังไม่ชัด อาจเป็นเพราะน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง รอกองทัพเรือแถลง...
วันที่ 3 สิงหาคม 60 มีรายงานว่า เกิดอุบัติเหตุขณะ ร.ล.สุรินทร์ ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ของกองทัพ ขณะแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา ลอดสะพานกรุงเทพ ที่เป็นสะพานเปิด-ปิดได้ เสากระโดงเรือที่มีจานและเสาวิทยุ ได้เกี่ยวกับพื้นถนนสะพานที่เปิดยกขึ้นไป จนเสาหักงอเอนล้มลงมา
ทั้งนี้ สาเหตุคาดว่า น่าจะเกิดจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นสูงในช่วงฤดูฝน และอาจเป็นช่วงน้ำทะเลหนุน ทำให้เรือลอดไม่พ้นพื้นสะพาน หลังเกิดเหตุ ทราบว่า เรือเพิ่งออกจากอู่กรุงเทพ มุ่งหน้าไปป้อมพระจุลฯ หลังเฉี่ยวชนสะพานกรุงเทพ ได้ไปจอดลอยลำอยู่ใกล้ป้อมพระจุลฯ
...
ต่อมา พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ เผยว่า สาเหตุเรือรบหลวงสุรินทร์ ชนสะพานกรุงเทพนั้น เบื้องต้นน่าจะเกิดจากสภาพคลื่นลมแรง และระดับน้ำที่ขึ้นสูงเรือรบหลวงสุรินทร์ที่เป็นเรือยกพลขึ้นบก เป็นเรือขนาดใหญ่ มีความยาว 113 เมตร เวลาจะผ่านสะพานกรุงเทพที่มีขนาดที่แคบ ทำได้ลำบาก ประกอบกับคลื่นลมแรงในขณะนั้นแรง และจะต้องเดินเรือตามน้ำ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดขึ้นมา อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้บังคับการเรือกำลังให้ข้อมูลกับทางสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ และจะนำชี้แจงให้สื่อมวลชนได้รับทราบต่อไป
สำหรับสะพานกรุงเทพ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 3 ต่อจากสะพานพระราม 6 และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ถือเป็นสะพานโยกเพียงแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังเปิด-ปิดได้อยู่ เชื่อมระหว่างบริเวณสี่แยกถนนตก เขตบางคอแหลมทางฝั่งพระนคร กับบริเวณสี่แยกบุคคโลในพื้นที่เขตธนบุรีทางฝั่งธนบุรี ใช้ในการคมนาคมทางบกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและปิด-เปิด ให้เรือเข้าออก ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบคอนกรีตอัดแรง โดยวิธีการอิสระซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทย มีช่องทางจราจร 4 ช่อง ความยาวสะพาน 350.80 เมตร ช่วงกลางน้ำยาว 226 เมตร เริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2502 ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท.