"จาตุรนต์" สับร่างสัญญาประชาคมปรองดอง ทำรัฐประหารเสียของ ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาความขัดแย้ง ผสมบริหารราชการผิดพลาด บิดเบือนกลไก เสี่ยงการเมืองหลังการเลือกตั้งขัดแย้งปะทุ

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.60 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับร่างสัญญาประชาคมสร้างความสามัคคีปรองดองว่า ไม่ใช่เป็นเนื้อหาที่ไม่ดี เหมือนบอกให้กินอาหารที่สุก อาบน้ำ แปรงฟันทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องดี เพียงแต่ไม่ได้แก้ความขัดแย้งทางการเมือง ถามว่าถ้าเลือกตั้งแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งการเลือกตั้งเป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย ที่มีไว้ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางความคิด เกี่ยวกับการบริหารปกครองบ้านเมือง แต่เมื่อมีการทำลายระบบทำหลายหลักนิติธรรมอย่างต่อเนื่อง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และยังมีรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งทำลายความหมายของการเลือกตั้งเท่ากับทำลายเครื่องมือกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไป

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ต่อไปข้างหน้าเมื่อประชาชนไม่รู้สึกว่าได้รัฐบาลอย่างที่ประชาชนต้องการ แม้ผ่านการเลือกตั้งแล้วไม่ได้รัฐบาลที่ตัวเองต้องการ เขาก็ไม่หวังพึ่งการเลือกตั้ง ความขัดแย้งในสังคมก็จะพัฒนาไปสู่การเผชิญหน้า โดยวิธีการต่างๆ ที่เป็นเรื่องนอกระบบ ส่ิงเหล่านี้เกิดขึ้นเข้าใจว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่ใช่จะไม่รู้ เพียงแต่ที่เขายอมไม่ได้ คือ การที่ประชาชนจะมาเป็นคนตัดสินว่าใครจะเป็นผู้บริหารประเทศ และจะบริหารประเทศอย่างไร เมื่อผู้มีอำนาจไม่ยอมเรื่องนี้ จะผูกขาดอำนาจไว้เองไปยาวนาน ก็เป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น และไม่มีทางเกิดการปรองดองขึ้น

"โดยความขัดแย้งเดิมก่อนรัฐประหารยังไม่ได้แก้ปัญหา ยังไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ข้าราชการประจำ โดยเฉพาะกองทัพ ยังไม่มีความเข้าใจว่าต้องอยู่ใต้บังคับบัญชารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งใน 3 ปีมานี้มีการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจากการบริหารที่ผิดพลาด การใช้คำสั่งที่เป็นเผด็จการจำนวนมาก และทำให้เกิดปัญหา แต่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในช่วง 3 ปีมานี้ มีแนวโน้มปะทุขึ้นหลังการเลือกตั้ง และเวลานั้นมีความขัดแย้งเต็มไปหมด จากเรื่องต่างๆ ที่ คสช.และแม่น้ำ 5 สายได้ตั้งไว้ และมีปัญหาใหญ่มากอีกเรื่องหนึ่ง คือ เลือกตั้งแล้วผลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาชน เพราะถูกบิดเบือนไปโดยรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ความเสี่ยงก็อยู่ตรงที่ว่า เมื่อปัญหาต่างๆ ประดังเข้ามาจนแก้ไม่ตก และไม่มีกระบวนการที่ดีรับมือกับมัน ถึงตอนนั้นอาจมีคนบอกว่า รัฐประหารปี 57 เสียของอีกแล้ว และไม่รู้ว่าสังคมไทยจะสรุปว่า อย่าได้รัฐประหารอีก หรือจะสรุปว่าเพราะฉะนั้นต้องรัฐประหารอีกรอบหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะอยู่ในทศวรรษที่ 3 แห่งความล้มเหลวและชะงักงัน" นายจาตุรนต์ กล่าว.

...