พนักงานดูแลร้าน หนวกใบ้ มีรอยยิ้ม ภาษามือ

มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการผุดไอเดียช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เปิดร้านกาแฟ “ยิ้มสู้คาเฟ่” ประกาศรับเฉพาะผู้พิการเข้าเป็นพนักงาน หวังฝึกให้เรียนรู้การทำกิจการร้านอาหาร จนสามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัว ทั้งมุ่งเป้าต่อยอดพัฒนาร้านให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ ขยายความรู้ออกไปสู่คนพิการทั่วประเทศ ขณะที่พนักงานประจำร้านที่พิการหูหนวกเป็นใบ้ เผยอยากทำงานร้านกาแฟมาทั้งชีวิตแต่ไปสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับ จึงมุ่งมาทำงานที่ยิ้มสู้คาเฟ่หวังเก็บประสบการณ์ไปสร้างฝันเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองในอนาคต

จากการที่คนพิการในสังคมจำนวนมากถูกปิดกั้น โอกาสในการประกอบสัมมาชีพ เหตุเพราะนายจ้างจำนวนไม่น้อยมองว่าคนอวัยวะไม่ครบ 32 ไม่อาจ ทำงานได้มีประสิทธิภาพทัดเทียมคนปกติ จนเป็นเหตุให้คนพิการยังคงถูกปฏิเสธการจ้างงาน อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน กทม.ที่ประกาศรับเฉพาะคนพิการเข้าทำงาน แต่กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าทั้งชาวไทย และต่างชาติ แวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาด

ทั้งนี้ เมื่อเดินทางไปที่ซอยอรุณอมรินทร์ 39 ถนนอรุณอัมรินทร์ ก็พบร้านกาแฟขนาดใหญ่ ชื่อร้าน “ยิ้มสู้คาเฟ่” ตั้งอยู่ชั้นล่างของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ บรรยากาศในร้านถูกตกแต่งให้สบายตา เหมือนร้านกาแฟทั่วไป แต่จุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร คือความเงียบ เนื่องจากหญิงสาวที่เป็นพนักงานประจำ หน้าร้านทั้งหมด 3 คน ล้วนเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ทั้งหูหนวกและเป็นใบ้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณเคาน์เตอร์สั่งอาหาร ของร้าน มีการติดป้ายแสดงข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “พนักงานหูหนวกยินดีให้บริการค่ะ โปรดสั่งอาหารด้วยการชี้ไปที่เมนูนะคะ” ใกล้ๆกันยังมีจอมอนิเตอร์แบบสัมผัส เพื่อให้ลูกค้ากดสั่งอาหาร เครื่องดื่ม พร้อมแสดงราคาค่าใช้จ่ายแต่ละเมนู ทดแทนการสื่อสารด้วยคำพูด นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า พนักงานหญิงหูหนวก เป็นใบ้ทั้งหมด ต่างตั้งหน้าตั้งตาชงกาแฟ เก็บเงิน ทอนเงิน เสิร์ฟ เครื่องดื่ม ฯลฯ ด้วยความขยันขันแข็ง มีเพียงรอยยิ้ม แววตา และท่าทางภาษามือเท่านั้นที่ใช้สื่อสารกับลูกค้า แต่กลับเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่เข้ามาใช้บริการในร้านเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อได้สอบถามผู้ที่มานั่งในร้าน บางรายบอกว่า เมื่อทราบข่าวก็ลงทุนเดินทางมาจากที่ไกลๆเพื่ออุดหนุน บ้างเป็นลูกค้าประจำที่มานั่งร้านนี้ เพราะความสงบเงียบ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนพิการด้วยกันมาใช้บริการ รวมทั้งนักศึกษาต่างชาติด้วย

...

ด้านนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิ สากลเพื่อคนพิการ ซึ่งเป็นผู้พิการตาบอด เปิดเผยว่า ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.2559 ด้วยการนำพื้นที่ชั้นล่างของมูลนิธิมาปรับปรุงตกแต่ง และชื่อร้านมาจากชื่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นขวัญ กำลังใจให้คนพิการได้สู้ชีวิต สำหรับแนวคิดการเปิดร้านมาจากนโยบายมูลนิธิ ที่มุ่งมั่นสร้างงานให้คนพิการให้มีรายได้เลี้ยงชีพเลี้ยงตัว ซึ่งเน้นไปที่การ ประกอบอาชีพอิสระ เพราะง่ายกับคนพิการ ตัวอย่างในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา พบว่าคนพิการ สามารถประกอบธุรกิจร้านอาหารได้ดีเทียบเท่าคนปกติ จนสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเป็นกอบเป็นกำ จากนั้นจึงเริ่มเปิดรับพนักงานผู้พิการหูหนวกเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากทางมูลนิธิมีการจัดตั้งเป็นศูนย์ล่าม ภาษามือสำหรับผู้พิการทางหูอยู่ ปัจจุบันจึงมีพนักงานหูหนวก ทำงานหน้าร้าน 3 คน พนักงานพิการร่างกาย ในครัว 2 คน รายได้เดือนละ 1.2 หมื่นบาท เคยมี คนพิการมาฝึกและจบไปแล้วบางส่วนด้วย เช่น กลุ่มออทิสติก จาก จ.ขอนแก่น เดินทางมาเรียนเพื่อเตรียม จะไปเปิดร้านอาหารโดยเฉพาะ

ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งในแง่การสอนคนพิการ ที่ทำให้มีความคล่องตัวและความเชื่อมั่นในงานด้านร้านกาแฟมากขึ้น ทั้งทางร้านยังได้รับความนิยมจากคนไทย และจากนักศึกษาต่างชาติที่เรียนในเมืองไทย ทำให้มีแนวคิดที่จะพัฒนาการสื่อสารระหว่างพนักงานกับลูกค้าขึ้นอีกช่องทาง ด้วยการทำเมนูเป็นภาษามือ นอกจากนี้ ยังคิดต่อยอดว่าจะใช้ร้านยิ้มสู้คาเฟ่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อผู้พิการ สามารถนำไปประกอบอาชีพด้านอาหารให้ขยายออกไปได้ทั่วประเทศ รวมทั้งจะสนับสนุนคนพิการรวมตัวกันเข้าไปเช่าพื้นที่ทำร้านอาหารในสถานที่ราชการ เป็นต้น

ด้านความรู้สึกของพนักงานประจำร้าน น.ส.สุจิรา ไชยสุริยงค์ วัย 26 ปี ชาว จ.ยโสธร เปิดเผยผ่านล่ามภาษามือว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นพนักงานคีย์ข้อมูลในบริษัทเอกชน แต่มีความฝันอยากจะทำงานร้านกาแฟ เคยลองไปสมัครงานในร้านกาแฟชื่อดังแห่งหนึ่งแต่ถูกปฏิเสธ เหตุเพราะเป็นคนหูหนวก ทันทีที่ทราบว่าทางมูลนิธิเปิดร้านนี้ จึงตัดสินใจมาลองทำ รู้สึกสนุกมาก ได้ความรู้เกี่ยวกับการทำเครื่องดื่มมากมาย อนาคตตั้งใจไปเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ขณะที่ น.ส.อารีลักษณ์ โยลัย วัย 27 ปี ชาว จ.นครพนม บอกว่า ได้ประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับกาแฟ ทั้งสนุกที่ได้สื่อสารและบริการลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ยอมรับว่าเคยลองสมัครทำงานร้านกาแฟมาแล้วแต่ไม่สำเร็จเช่นกัน แต่ยังคงมุ่งมั่นอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการหูหนวกก็ทำร้านกาแฟได้ และในอนาคตอยากจะนำความรู้ที่ได้ไปเปิดร้านกาแฟของตัวเองแน่นอน