จากกรณี สมาชิกเว็บไซต์พันทิปรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่กลางเมือง ภายในซอยอุดมสุข แยกสุทธิสารวินิจฉัย โดยสภาพบ้านมีนกพิราบเต็มบ้าน โดยเจ้าของกระทู้ระบุว่า เท่าที่เห็นเจ้าของบ้านเป็นคนเก็บของเก่าขาย ส่วนบ้านก็ไม่เคยทำความสะอาด จนมีนกพิราบมาอาศัยอยู่และปล่อยมูล ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง แค่เดินผ่านใกล้ๆ ก็แทบอ้วกแล้ว แล้วก็เป็นต้นตอที่นกพิราบมาเกาะสายไฟแถวๆ นั้นด้วย
ต่อมา ได้มีคนมาแสดงความคิดเห็นมากมาย ซึ่งก็มีอมยิ้มท่านหนึ่ง แสดงความคิดเห็นพร้อมแนบ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มีบทลงโทษตาม มาตรา 74 หากฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สืบเสาะ และพบข้อมูลสำคัญ ซึ่งเปิดเผยโดย นายประเสริฐ สกุลทองอร่าม ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดินแดง ซึ่มเดิมเคยเป็นหัวหน้าเทศกิจอยู่เขตห้วยขวาง เคยทำคดีนี้มาตลอด 4 ปีที่ทำหน้าที่อยู่เขตห้วยขวาง
...
ปฐมบท บ้านขี้นกพิราบ เผยมีการร้องเรียนตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อน
นายประเสริฐ กล่าวว่า บ้านหลังดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เขตห้วยขวาง ช่วงนั้นผมเป็นหัวหน้าเทศกิจ ซึ่งต้องย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีก่อน มีคนเคยมาร้องเรียนเรื่อง “สร้างเหตุเดือดร้อนรำคาญ” ทางเขตห้วยขวางก็เลยออกคำสั่งเพื่อแก้ไขเหตุ แต่เจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นลุงวัย 60 กว่า ก็ได้ทำการอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งกว่าจะมีการพิจารณาก็ใช้เวลานาน พอพิจารณาเสร็จ ก็เลยต้องออกคำสั่งใหม่ พอกำลังเดินหน้าดำเนินคดี ปรากฏว่า “คดีขาดอายุความ” (อายุความ 1 ปี ส่วนคดีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2 พัน)
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่กระบวนการแรก คือ ออกคำสั่งเช่นเดิม ซึ่งเขาก็อุทธรณ์อีก แต่คณะกรรมการและฝ่ายปกครองเขาได้ยกคำร้องอุทธรณ์ ซึ่งที่ผ่านมา สาเหตุที่ดำเนินการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากทางเจ้าของบ้านนั้นเป็นคนรู้ขั้นตอนของกฎหมายเป็นอย่างดี มีการยื้อไว้ถึง 7-8 ปี สุดท้ายเราจึงนำเรื่องไปแจ้งความยัง สน.สุทธิสาร กระทั่งมีการขึ้นศาล ซึ่งศาลก็ตัดสิน เขาก็ยอมเสียค่าปรับแต่โดยดี
“เรื่องมันก็ยังไม่จบ เนื่องจากตอนที่เราฟ้อง เราได้แนบคำร้องกับทางอัยการ ยื่นต่อศาลว่า ขอให้จำเลยห้ามให้อาหารนกพิราบ หรือประกอบอาชีพบางอย่าง (เก็บของเก่าไว้ในบ้าน) แต่คาดว่าทางอัยการไม่ได้ยื่นคำร้องดังกล่าว พอศาลตัดสินออกมา คำร้องนี้ไม่อยู่ในคำพิพากษา จึงทำให้เขายังคงทำแบบนี้ได้ต่อไป เรื่องทุกอย่างจึงต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ เมื่อมีผู้เข้ามาร้องเรียนใหม่”
นี่คือเรื่องราวทั้งหมดในทางกฎหมาย... แต่ในทางความเป็นจริงการปรับ ปัญหายังไม่จบ เพราะไม่สามารถแก้เหตุรำคาญได้ ที่สำคัญคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาเดือดร้อนจริงๆ
ทีมข่าวถามว่า พอทราบเหตุผลหรือไม่ ทำไมเขาถึงให้อาหารนก ให้นกเข้ามาอยู่ในบริเวณบ้าน ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดินแดง กล่าวว่า “ผมเจอคนมาเยอะ บางคนไม่ค่อยมีงานทำ ก็เลยหาอะไรทำด้วยการเลี้ยงสัตว์ ที่ผ่านมา เคยเจอบางคนเลี้ยงเป็ดไก่ไว้ในห้องนอนก็เคยมี”
เมื่อถามว่า มีการร้องเรียนมาแล้วกี่ครั้ง “โอ้วว...!” นายประเสริฐ อุทาน ก่อนตอบว่า “เยอะครับ...ตอนผมอยู่ห้วยขวาง ผมเห็นคดีนี้เป็นหนึ่งในคดีของบังคับคดีฝ่ายกรมการปกครอง ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีเคสเก็บขยะไว้ในบ้าน เมื่อถูกบังคับคดี ศาลได้มีคำสั่งห้ามจำเลยเก็บขยะไว้ในบ้าน โดยให้เจ้าหน้าที่บังคับคดีไปดำเนินการ ในทางกลับกัน หากมีการร้องเรียนเข้ามาอีกครั้ง และศาลมีคำสั่ง เช่นเดียวกับคดีเก็บขยะไว้ในบ้าน ก็อาจจะเป็นทางออกแก้ไขได้
นายประเสริฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า “นอกจากนกพิราบแล้วลุงเขายังเลี้ยงแมวด้วย ทุกวันลุงจะเอาเศษอาหารที่วัดมาให้ ตัวลุงนั้นเหมือนคนรักสัตว์ แกเคยพูดว่า ทำไม...สังคมก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ...”
...
หมอล็อตไข โรคที่มาจาก "นกพิราบ" แนะแก้ปัญหาด้วยการสร้างความเข้าใจ ใช้วิธีละม่อม
ด้าน หมอล็อต หรือ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประเด็นแรก สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือไม่ใช่คนนอกบ้าน แต่เป็นคนในบ้านต่างหากที่น่าห่วง แม้เขาจะเลี้ยงนกมานานแล้ว ร่างกายไม่เป็นไร แต่เราต้องทำความเข้าใจกับเขาว่า หากวันหนึ่งร่างกายเขาอ่อนแอลง เชื้อโรคในนกพิราบมีมากขึ้น อาจจะทำร้ายให้เขาป่วยเป็นคนแรก ส่วนคนนอกบ้าน ถือเป็นคนที่น่าห่วงเป็นอันดับสอง
หมอล็อต อธิบายว่า สัตว์ทุกชนิดมีเชื้อโรคอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเชื้อโรคที่อยู่ในตัวมัน ติดคนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เป็นไปได้ไม่ควรสัมผัสกับเขาด้วยมือเปล่า บางทีเกิดเห็นนกพิราบบาดเจ็บ แล้วปรารถนาดีเอามือเปล่าๆ ไปจับ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดโรคได้
“นกพิราบ นั้น เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สาเหตุมาจาก พวกขี้นกพิราบ หากมันแห้งแล้วก็จะก่อให้เกิดการฟุ้งกระจาย ส่วนเรื่องไข้หวัดนกนั้น เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่มีการระบาด แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องขี้นกต่างหาก หากคนที่ไม่ค่อยแข็งแรงก็อาจจะทำให้ติดโรคได้”
เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น น.สพ.ภัทรพล ให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาเคสนี้ว่า หากเราไปบอกว่าเราห่วงคนรอบๆ บ้าน แต่..คนในบ้านเขารู้สึกว่าเขาทำได้ เขาใจบุญ และไม่ได้รับผลกระทบ จึงทำให้การแก้ไขหรือหาทางออกไม่เกิดขึ้น เราควรใช้กลยุทธ์ที่ว่า ให้คนในสังคมให้ความห่วงใยเขา เช่น “คุณลุง คุณลุงก็อายุมากแล้ว ขี้นกพิราบเวลามันแห้ง มันฟุ้งกระจาย หากมันเข้าไปในปอดจะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้” เราควรจะโฟกัสเรื่องนี้ไปที่ตัวเจ้าของบ้าน คือเราต้องทำให้เขาในฐานะเจ้าของบ้านเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ส่วนได้ เขาอาจจะรู้สึกว่าได้เลี้ยง ได้ดูแล หรืออนุรักษ์ แต่เขาลืมไปว่าเขาก็มีส่วนเสียคือ ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพด้วย จากนั้นก็ให้สังคมช่วยประคับประคอง หากสังคมมาดุด่าต่อว่า เขาก็จะหันหน้าเข้าหากันไม่ได้
...
“ในอดีตนั้นเรายังไม่ทราบเรื่อง “โรคอุบัติใหม่” แต่ปัจจุบันมีเรื่องนี้เข้ามา ฉะนั้นหากเขาไม่ยอมเข้าใจ ก็อยากให้เชิญนักวิชาการเกี่ยวกับสุขภาพของคนและสุขภาพสัตว์มาเป็นพยานให้ข้อมูล เอาเรื่องของสาธารณสุข โรคติดต่อ หรือโรคอุบัติใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับสุขภาพของมวลมนุษยชาติมาก ฉะนั้นที่ผ่านมา ลุงเขาอาจคิดว่า ถูกปรับแล้วก็จบ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว มันเกี่ยวข้องกับสุขภาพของลุง และสุขภาพของคนอื่นๆ ด้วย ตนก็เป็นนักวิชาการด้านสุขภาพ เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับด้านนี้มาใช้ยืนยันได้ หากดื้อแพ่งแบบนี้ต่อไป ก็อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของที่อื่นๆ"
...
ทั้งนี้ หากลุงเขาอยากให้เรา กรมอุทยานฯ เข้าช่วยเหลือ เช่น ตรวจโรค ทำระบบนิเวศ หรือแม้กระทั่งไม่อยากให้อาหารแล้ว ให้ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เข้ามาจัดการได้ ซึ่งสามารถโทรมาที่สายด่วนกรมอุทยานฯ 1362
“อย่าให้สังคมมากดดัน แต่อยากให้สังคมมาประคับประคองเขา แล้วมาร่วมหาทางออกด้วยกัน” หมอล็อต กล่าวทิ้งท้าย.