มาแล้วแคมป์ KUBOTA Smart Farmer Camp 2024 โดยปีนี้มาในธีม “Real-life Agri Journey จากพื้นที่การเรียนรู้ สู่วิถีชีวิตจริง” พาน้องๆ คนรุ่นใหม่ 60 ชีวิตไปสัมผัสการทำเกษตรยุคใหม่ ได้ลงมือฝึกจริง กับเกษตรกรที่ศูนย์ฯ หนองผักบุ้ง จ.เพชรบูรณ์ เพื่อกลับไปสานต่ออาชีพเกษตรของที่บ้าน
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้ามีพันธกิจในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม โดยมุ่งเน้น “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นตามหลักการ Sustainable Development Goals หรือ SDGs 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาของเยาวชน ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม และ 1 ในโครงการที่สยามคูโบต้าได้จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 คือ โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และนวัตกรรมการเกษตรสู่เยาวชนรุ่นใหม่ รวมถึงสร้างทัศนคติที่ดีและกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจการทำอาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนตระหนักถึงการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรแม่นยำอย่างยั่งยืน และรอบด้านมากขึ้น เพื่อเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่ดีในอนาคต ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว ทั้งสิ้น 920 คน
...
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้ โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp 2024 ได้กลับมาในชื่อตอน Real-life Agri Journey จากพื้นที่การเรียนรู้ สู่วิถีชีวิตจริง โดยสยามตูโบต้าคัดเลือกน้องๆ นิสิต นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่กว่า 60 ชีวิต ที่มีความตั้งใจจะกลับไปพัฒนา หรือ สานต่อเจตนารมณ์ของครอบครัว ในการทำเกษตรกรรมเข้าร่วมโครงการ ร่วมสัมผัสกับการทำเกษตรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ผ่านการเรียนรู้จากเกษตรกรตัวจริง ในพื้นที่จริง และผู้มีประสบการณ์จริง พร้อมนำประสบการณ์กลับไปใช้พัฒนาวิถีการทำการเกษตรในแบบของตัวเอง โดยมีระยะเวลาในการเรียนรู้ 4 วันเต็ม ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-หนองผักบุ้ง จ.เพชรบูรณ์
งานนี้ น้องๆ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับฟังองค์ความรู้ จากผู้ประสบความสำเร็จด้านการเกษตร มาเล่าถึงชีวิตจริง ในจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นผู้ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดย นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา จากศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ผู้เปลี่ยนแปลงธุรกิจพันธุ์ข้าวเปลือกครบวงจรสู่ "ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย" พร้อมเปิดโลกทัศน์ให้คนเห็นความสำคัญของ "ข้าว" และ "ชาวนา" Real Agri รับฟังประสบการณ์จริงในการทำการเกษตร โดย พี่หนึ่ง นายธนากร ทองศักดิ์ เจ้าของ Believe Farm เพชรบูรณ์ วิศวกรหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร ปลูกพืชผักและมะเขือเทศหลากสีเพื่อสร้างรายได้เสริม เป็นตัวแทนในการส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ กลับมาทำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้
การเสวนาในหัวข้อ Real Journey เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรเชิงธุรกิจ โดย นายไพโรจน์ คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาสินค้าท้องถิ่นและจริงใจฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต พี่จ๊ะเอ๋ นางชัยพร หล้าต๋า เจ้าหน้าที่อาวุโสกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ คุณแม่หยวน นางหยวน หมื่นนาอาน คณะทำงานแปรรูปสินค้าเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา จังหวัดเพชรบูรณ์
ด้าน น้องแก้วตา นางสาวศิริมน พันธุ์พิริยะ นิสิตชั้นปีที่ 3 สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ใน ผู้เข้าอบรม กล่าวว่า บ้านของหนูอยู่ที่ จ.ตราด ทางครอบครัวทำอาชีพเกษตรกร โดยทำเกษตรผสมผสาน มีทั้งสวนยางพารา สวนเงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด และพืชอื่นๆ ช่วงที่เข้าอบรมก็ได้รับฟังข้อมูลจากนาเฮียใช้ แล้วก็ลองเขียนแผนการทำการเกษตร จากนั้นก็มาลงพื้นที่ที่หนองผักบุ้งทดลองเขียนแผนบริหารการใช้รถแทรกเตอร์ใน 1 ปีให้เกิดความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังได้ลองขับแทรกเตอร์ไถนา รถดำนา รถขุดตักดิน และลองบินโดรนการเกษตรด้วย สร้างความตื่นเต้นและสนุกดี เพราะเรายังไม่เคยบังคับ แต่พอได้ลองแล้วก็รู้สึกไม่ยากเกินไป นอกจากนี้ยังได้ไปฝึกการแปรรูปกล้วยฮักมะขามที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปผลผลิตการเกษตรของชาวบ้านหนองผักบุ้ง รวมทั้งการเรียนรู้การไลฟ์สดขายของด้วย
...
น้องแก้วตา 1 ใน ผู้เข้าอบรม กล่าวต่อว่า มุมมองเกี่ยวกับการเกษตรยุคใหม่ เป็นการทำเกษตรที่ไม่เหนื่อยเหมือนก่อน เพราะเรามีเครื่องจักรกลและเครื่องมือต่างๆ มากมายช่วยทุ่นแรง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้มากกว่าเดิม รวมทั้งยังขยายช่องการขายใหม่ๆ ที่คนเข้าถึงง่าย แล้วก็เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ตรงนี้สำคัญกับเกษตรกรยุคใหม่ เพราะในอดีตเราต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่ตอนนี้เรากำหนดราคาได้แล้วยังโชว์สินค้าให้ลูกค้าดูได้ด้วย ก่อนหน้านี้หนูมีความตั้งใจอยากจะขายของออนไลน์ แต่ตัวเองไม่มีความกล้า พอมาเข้ารับการอบรมหลายๆ อย่าง มีแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น เริ่มมีจุดหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ความรู้ที่ได้มาก็จะนำไปปรับใช้กับการทำเกษตรของครอบครัวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์จริงกับกิจกรรมเรียนรู้ Smart Farming Experience จากนวัตกรรมและเครื่องจักรกลการเกษตร ที่จะได้ทั้งการทดลองทำจริง ลงมือจริง วางแผนจริงด้วยตนเอง ประกอบด้วย
...
ฐานที่ 1 การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร : การวางแผนการใช้เครื่องจักรกล การสร้างรายได้จากเครื่องจักรกล ปฏิทินการเพาะปลูก ปฏิทินการใช้เครื่องจักร และผลตอบแทนการบริหารการจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร
ฐานที่ 2 การทำนาและปลูกพืชหมุนเวียน : ถ่ายทอดประสบการณ์ การปลูกข้าวจากเกษตรกร รวมถึงการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรม รวมถึงการทดลองขับนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ แทรกเตอร์ รถดำนานั่งขับ 8 แถว โดรนการเกษตร รถเกี่ยวนวดข้าว และการพืชหมุนเวียน ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยถือเป็นฐานที่สร้างความสนุกสนานให้กับน้องๆ มากเพราะได้ลองขับเองทุกคน
...
ฐานที่ 3 การแปรรูปสินค้าการเกษตร : ศึกษากระบวนการแปรรูปสินค้าการเกษตรตั้งแต่ เริ่มต้นจากแหล่งผลิต การวางแผนการผลิตให้ตรงตามลักษณะความต้องการของผู้บริโภคและความต้องการของตลาด จบด้วยการจําหน่ายสินค้า ที่สร้างความบันเทิงและความสนุกด้วยการไลฟ์สดใน TikTok เพื่อขายสินค้าแปรรูปกล้วยฮักมะขาม ภายใต้โจทย์ปิดการขายสร้างออเดอร์ให้ได้ใน 10 นาที
ฐานที่ 4 การปรับปรุงบำรุงดิน : เทคนิคการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก อาทิ การตรวจดินอย่างง่าย การทำปุ๋ยหมัก การผสมปุ๋ยเคมี การทำน้ำหมัก เป็นต้น
ฐานที่ 5 ปลูกผักสร้างรายได้ โดย Believe Farm : เรียนรู้วิธีการปลูกผักในทุกกระบวนการปลูกตั้งแต่การปรุงดิน การเลือกเมล็ดพันธุ์ผัก วิธีการปลูก และการทำปฏิทินการเพาะปลูกผัก
ฐานที่ 6 การบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร : ศึกษาลักษณะภูมิศาสตร์ทางการเกษตร การวิเคราะห์พื้นที่ และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ของกลุ่มหนองผักบุ้ง โดยการนำเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทางการเกษตร ได้แก่ รถขุด ไปใช้เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้รูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่
ปิดท้ายกิจกรรมด้วย การออกแบบแผนการเกษตรในอนาคตของตัวเอง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดและพัฒนาภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน.