ARDA เล็งปั้นงานวิจัยหนุนแนวทางแก้ปัญหา "ปลาหมอคางดำ" ในแหล่งธรรมชาติ แนะศึกษาใช้ ฟีโรโมน แสง สี กระตุ้นให้ปลารวมกลุ่มเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ควบคู่การศึกษาชีววิทยาปลาที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ไปจนถึงการตัดวงจรชีวิตปลา

กรณีประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของ “ปลาหมอคางดำ” ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จนเกิดการสั่งไล่ล่าแบบจับตาย เพื่อป้องกันการรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นจนสูญพันธุ์ และป้องกันระบบนิเวศทางน้ำจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เชื่อมั่นว่าเป็นปัญหาที่ตอนนี้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งระยะเร่งด่วน-ระยะยาว แต่ในส่วนของการพัฒนางานวิจัยคุณภาพเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา ARDA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรเห็นว่างานวิจัยที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การศึกษาชีววิทยาปลาหมอคางดำให้ได้ความชัดเจน อาทิ วงจรชีวิตการสืบพันธุ์ อาหาร ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ

...

ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญต้องศึกษาปลาเอเลี่ยนไปผสมกับปลาท้องถิ่นหรือไม่ และการศึกษาพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่ถูกรุกราน และดำเนินการเร่งรวบรวมและเพาะขยายพันธุ์ปลาท้องถิ่น ที่ถูกปลาเอเลี่ยนสปีชีย์รุกรานเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เรื่องเหล่านี้เป็นงานวิจัยต้องทำในระยะเร่งด่วน ในส่วนของงานวิจัยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะต้องศึกษาวิธีการการตัดวงจรชีวิตปลาคางดำ โดยด้านวิทยาศาสตร์ปัจจุบันถูกพูดถึงกันหลายวิธี ทั้งการทำให้เป็นหมันในธรรมชาติซึ่งเป็นกลไกนึง รวมถึงการใช้สารเคมี เป็นต้น

นายวิชาญ กล่าวถึงแนวทางการศึกษาปลาหมอคางดำว่า ทาง ARDA แนะนำว่า ควรมีการศึกษาเรื่อง ฟีโรโมนของปลาหมอคางดำ เนื่องจากการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำก็เหมือนกับแมลงกับสัตว์อื่น ซึ่งจะมี “ฟีโรโมน” สารคัดหลั่งในการดึงดูดเพศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการ “รวมฝูง” เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาฟีโรโมนของปลาหมอคางดำเพื่อบริหารจัดการที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรใช้หลักการใช้ฟิสิกส์เข้าไปช่วย เรื่องของแสง เสียง เนื่องจากสัตว์น้ำมีความไวต่อแสงพอสมควร ยกตัวอย่างที่เห็นภาพง่ายๆ การรวบรวมฝูงหมึกด้วยแสงไฟล่อสีเขียว สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เช่นเดียวกัน ต้องมีการศึกษาวิจัยแสง เสียงที่เหมาะสม ว่าสามารถเป็นไปได้ไหมที่จะล่อให้ปลามาอยู่รวมฝูงกันเพื่อให้ง่ายและรวดเร็วต่อการบริหารจัดการ

ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามถึงแม้ทุกหน่วยงานจะเร่งดำเนินการอย่างเข้มงวด แต่ปลาชนิดนี้อาศัยได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ซึ่งจากข้อมูลทราบว่า พบว่ามีการผ่าท้องและพบ “เคย” ซึ่งถือเป็นอาหารอันดับต้นๆ ของสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะปลากะตัก ปลาหลังเขียว ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของสัตว์น้ำในห่วงโซ่ผลิต ซึ่งหากปลาหมอคางดำกินเยอะจนสามารถตัดวงจรของของเคย ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสัตว์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติจะลดลงไปอย่างแน่นอน

...

"ในส่วนของมาตรการการติดตามการเฝ้าระวังปลาหมอสีคางดำ ต้องมีพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กันไปด้วย อาทิ ระบบ GIS ระบบดาวเทียม แอปพลิเคชัน สำหรับให้เกษตรกร ชาวประมง หรือผู้ติดตามเฝ้าระวังรายงานเข้ามากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายอย่างเร่งด่วน กรมประมงกรมเดียวคงไม่อาจสามารถแก้ไขปัญหาได้ จำเป็นต้องมีการแสวงหาความรู้ สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง นักวิจัย รวมถึงประชาชน เข้ามาบูรณาการร่วมกัน เนื่องจากการศึกษาเรื่องเหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะด้านที่กว้างขวางพอสมควร" นายวิชาญ กล่าว

...

ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวด้วยว่า การใช้ข้อมูลทางวิทยาศาตร์ถึงแม้บางผลงานอาจใช้เวลานาน แต่ข้อมูลที่ได้มานั้นไม่สามารถบิดเบือนได้ ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการตัดสินใจการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างตกผลึกและตรงประเด็น ตลอดจนเป็นการช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตได้ นอกจากนี้ข้อมูลวิทยาศาสตร์การเยียวยาผลกระทบทั้งเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ ARDA มีนโยบายให้การสนับสนุนงานวิจัยที่ต้องร่วมมือกับกระทรวง อว. ดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อไป.