นักวิจัยชาวกาฬสินธุ์ ลุยเก็บตัวอย่างเห็ดหลินจือ-เห็ดขอนขาว-เห็ดบดสายพันธุ์พื้นเมืองอีสาน ที่เกิดเองตามธรรมชาติ เพื่อนำไปวิจัยในห้องปฏิบัติการ และนำไปขยายพันธุ์เพื่อเพาะเลี้ยงในเชิงธุรกิจต่อไป

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายนิมิตร รอดภัย เจ้าของฟาร์มเห็ดชื่อดังในภาคอีสาน (มิตรภาพฟาร์ม) ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ รุ่น 47 ที่เคยสร้างผลงานมานานเกือบ 40 ปี ในการนำเห็ดป่ามาพัฒนาเพาะเลี้ยงจนเป็นเห็ดเศรษฐกิจได้ถึงปัจจุบัน ได้แก่ เห็ดขอนดำ เห็ดบด และเห็ดกระด้าง ได้เดินทางเข้าป่าลุยเก็บตัวอย่างพันธุ์เห็ด ที่เกิดขึ้นเองหลากหลายสายพันธุ์ในธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าดงระแนง เขตบ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เพื่อนำมาขยายพันธุ์เก็บตัวเลขด้านผลผลิต และตรวจสอบคุณภาพ หวังจะได้สายพันธุ์ที่ดีให้ผลผลิตสูง มีรสชาติดี เป็นไปตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

นายนิมิตร กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางเข้าเก็บตัวอย่างเห็ดหลินจือ และเห็ดขอนขาว ในพื้นที่ป่าดงระแนง เขตบ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาพสินธุ์ หลังจากหลายปีที่ผ่านมาช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ เคยมีชาวบ้านไปเก็บเห็ดหลินจือจากป่าดงระแนงแล้วนำไปต้มกินน้ำ ปรากฏว่าอาการเจ็บป่วยทุเลาลงและร่างกายแข็งแรงขึ้น ประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตนั้นถ้าใครเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ก็จะไปเก็บเห็ดหลินจือป่ามาต้มกิน อาการเจ็บป่วยก็จะหายได้

...

นักวิจัยเชี่ยวชาญด้านเห็ด กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อมียาแผนปัจจุบันเข้ามาแทนที่ และระบบการรักษาพยาบาลมีการพัฒนาให้มีความทันสมัย และสะดวกในการเข้าถึงของประชาชน การใช้สมุนไพรพื้นบ้านก็ค่อยๆ เลิกไป อีกทั้งภูมิความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านก็ลบเลือนและสูญหายไปตามกาลเวลา ปัจจุบันการรักษาพยาบาลในประเทศจีน และอีกหลายประเทศ ได้ฟื้นฟูการใช้สมุนไพรร่วมกับการใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษาผู้ป่วย และผู้ป่วยก็มีสิทธิจะเลือกรับการรักษาแบบใช้สมุนไพร, ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือจะใช้ร่วมกันก็ได้ ซึ่งการบริการดังกล่าวถือเป็นการแพทย์ทางเลือกสำหรับประชาชน 

"เห็ดหลินจือธรรมชาติจากป่าดงระแนง จ.กาฬสินธุ์ ที่ตนเคยเก็บตัวอย่างไปเพาะเลี้ยง และตรวจสอบสารสำคัญที่มีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพร่างกาย ประมาณปี พ.ศ. 2552 ปรากฏว่ามีสารสำคัญที่มีประโยชน์มาก เช่น สารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide), สารเจอร์เมเนียม (Gemanium), สารไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoid) ซึ่งสารไตรเทอร์พีนอยด์ในเห็ดหลินจือนั้น มีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดเนื้องอก ต้านการอักเสบ เช่น ตับอักเสบ ต้านมาลาเรีย ต้านจุลินทรีย์ และช่วยยับยั้งเชื้อ HIV ขณะที่สารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) เป็นโมเลกุลคาร์โบไฮเดรตสายยาวโมเลกุลเดี่ยว ที่ประกอบด้วยหน่วยมอนอเมอร์ มาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคซิดิก ซึ่งสารพอลิแซ็กคาไรด์ที่มีอยู่ในเห็ดหลินจือนั้นดีมาก ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย ต้านการอักเสบ ช่วยไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ช่วยป้องกันผนังกันเยื่อเมือกในลำไส้ ยับยั้งการก่อตัวของมะเร็ง ต้านการเจริญของจุลินทรีย์" นายนิมิตร กล่าว

...

นักวิจัยเชี่ยวชาญด้านเห็ด กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในส่วนสารเจอร์เมเนียม (Gemrnium) ก็เป็นสารสำคัญอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ด้านการเกิดเนื้องอก เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ที่สำคัญคือการใช้เห็ดหลินจือนั้น สามารถใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เห็ดหลินจือจึงมีคุณค่าเป็นสมุนไพรเพื่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง ขณะที่เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ และเห็ดบด สายพันธุ์ที่เก็บมาจากป่าดงระแนงนี้ เป็นสายพันธุ์ที่มีความแข็งแรง ตอบสนองต่ออาหารที่เพาะเลี้ยงได้ดี ให้ผลผลิตสูง มีรสชาติดี มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ของเห็ดป่าพื้นเมืองอีสานอย่างแท้จริง

...

"การที่จะต้องเดินป่าเสาะแสวงหาและเก็บเห็ดชนิดต่างๆ เพื่อนำไปทำวิจัย ขยายพันธุ์ และเพาะเลี้ยง ก็เพื่อจะให้ได้สายพันธุ์เห็ดที่แข็งแรง ทนต่อโรคแมลง ให้ผลผลิตดีกว่าสายพันธุ์เดิมที่ใช้กันมานาน ซึ่งอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ อีกทั้งยังให้ผลผลิตต่ำลง และไม่ทนทานต่อการแพร่ระบาดของโรคและแมลงต่างๆ ได้ดีเช่นเคย จึงจำเป็นต้องเสาะแสวงหาพันธุกรรมเห็ดชนิดต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้สภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ผ่านฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แมลง และเชื้อโรคมากมายในผืนป่าธรรมชาติ ที่ยังมีชีวิตและสามารถขยายพันธุ์ได้ ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรง เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงจะได้ผลผลิตที่ดี นำมาเพื่อขยายพันธุ์และแบ่งปันให้แก่เกษตรกร ผู้ที่มีอาชีพเพาะเลี้ยงเห็ดต่อไป" นายนิมิต กล่าว

...

อย่างไรก็ตาม หากมีความก้าวหน้าในการเพาะเลี้ยงพันธุ์เห็ดอย่างไร จะนำเสนอเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและพี่น้องผู้ประกอบการเพาะเห็ด หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ด สนใจต้องการเชื้อพันธุ์เห็ดชนิดต่างๆ ที่แข็งแรง มีคุณภาพดี นำไปใช้แล้วสร้างผลกำไรจากการประกอบการได้ดี สามารถติดต่อได้โดยตรงที่ "มิตรภาพฟาร์ม" เลขที่ 429 หมู่ 6 ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ (แยกห้วยสีทน) โทร. 081-9642726.