เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ตั้งเป้าสร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง 5,800 ราย ในภาคเหนือและอีสานจากปัจจุบัน 1,500 ล้าน เพิ่มอีก 15% ภายในปี 2573 เสริมเทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต รับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเพื่อเกษตรที่ยั่งยืน หวังรัฐบาลช่วยหนุนทำแปลงใหญ่ เงินกู้เกษตรกร และระบบคมนาคมขนส่งที่ดี
นายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวว่า เป๊ปซี่โค คือ บริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของโลก ให้ความสำคัญต่อเกษตรกรอย่างมากเพราะธุรกิจหลักของบริษัทคือ การผลิตอาหาร เราตระหนักดีว่าความสำเร็จในระยะยาว ต้องพึ่งพิงกับเกษตรกรในประเทศไทย เราจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งแบบยั่งยืน โดยไม่เพียงรักษาห่วงโซ่อุปทานแต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้คนและโลก ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกร ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เรากำลังปูทางไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นให้กับทุกคนเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที
...
กก.ผจก.กลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวว่าในช่วงเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในไทย แต่การนำแนวปฏิบัติของโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Farming Program หรือ SFP) ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของเป๊ปซี่โคมาปรับใช้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะปลูกจากต่างประเทศ ทั้งการอนุรักษ์น้ำ การดูแลสุขภาพดิน การจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ พร้อมพัฒนาทักษะความชำนาญให้กับเกษตรกรทำให้สามารถบรรเทาภาระต้นทุนไปพร้อมๆ กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้แก่เกษตรกรไทยได้
ขณะที่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมันฝรั่งใน 10 จังหวัดของไทย รวมแล้วกว่า 38,000 ไร่ ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สร้างรายได้โดยรวมในปัจจุบันได้ถึง ปีละ 1,500 ล้านบาทให้แก่เกษตรกรภายใต้เกษตรพันธสัญญา 5,800 ราย นอกจากนี้เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่ภายใต้เกษตรพันธสัญญาทั้งหมดให้ปฏิบัติตามแนวทางเกษตรยั่งยืนและมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 ภายในปี 2573
อย่างไรก็ตามเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้วางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะภูมิอากาศที่มีความผันผวนรุนแรงไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร รวมถึงการวางแผนการจัดการวัตถุดิบให้พอเพียงกับปริมาณผลิต และความต้องการภายในประเทศเพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิต ซึ่งอยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน
นายสุดิปโต กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เป๊ปซี่โคเรียกว่า “PepsiCo Positive หรือ pep+ (เป๊ป โพสิทีฟ)” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์หลักและเป็นอนาคตขององค์กรที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับโลกในทุกมิติ โดยวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ คือ การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก pep+ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณค่าให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำทั้งการผลิต เพาะปลูก การแปรรูป การลำเลียงขนส่ง และการจัดจำหน่าย เพื่อไปสู่ปลายทางสุดท้ายคือผู้บริโภค ทั้งยังสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมโดยที่ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่
...
1. Positive Agriculture: การเกษตรเชิงบวก
2. Positive Choices: ทางเลือกเชิงบวก
3. Positive Value Chain: ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก
การเกษตรเชิงบวก คือ แนวทางในการฟื้นฟูผืนดินในพื้นที่ 7 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณเกือบ 18 ล้านไร่ โดยการจัดหาพืชผลกลุ่มตระกูลถั่วงา ธัญพืช ผักผลไม้ ที่สามารถนำมาปลูกเพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินได้อย่างสมดุล 100% เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรและคนในชุมชนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบอันจะเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตรอย่างถาวร นําไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิอย่างน้อย 3 ล้านตันภายในปี 2573 อันจะช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของกว่า 250,000 คน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้กับสตรีในภาคการเกษตรด้วย
...
ทางเลือกเชิงบวก คือ แนวทางส่งเสริมคุณค่าทางอาหารในผลิตภัณฑ์ของเป๊ปซี่โค ได้แก่การลดความหวานจากน้ำตาลในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ลดปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัวในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค โดยปัจจุบันนี้ กว่า 70% ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปของเราสามารถบรรลุระดับปริมาณโซเดียมเป้าหมายสำหรับปี 2573 ที่แนะนำโดยองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้แล้ว
ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก คือ แนวทางสร้างห่วงโซ่คุณค่าแบบหมุนเวียนวัตถุดิบ ส่งเสริมการรีไซเคิล การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero emissions) ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าของเราภายในปี 2583 โดยภายในปี 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากกว่า 40% ทั้งนี้ ในปี 2566 เพียงปีเดียว โรงงานทั้ง 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนและนิคมอุตสาหกรรมโรจนะได้บรรลุความสำเร็จในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ 100% แล้ว และยังลดการใช้ทรัพยากรน้ำไปได้รวม 15% จากอัตราปกติด้วย และในส่วนบรรจุภัณฑ์นั้น ก็สามารถดึงกลับมาได้กว่า10% ในปี 2566 และได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการดึงกลับให้ได้ 30% ในปี 2568 ด้วย
...
ด้าน นางสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ Greenhouse Accelerator เป็นโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของเป๊ปซี่โค ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในปี 2567 ได้ขยายหัวข้อใหม่ครอบคลุมเรื่อง “เกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวทางรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และในปีนี้มีสตาร์ทอัพหลายประเทศรวมถึงสตาร์ทอัพจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบ 2 ทีม
ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ Greenhouse Accelerator ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและยั่งยืน โดยโครงการเริ่มต้นขึ้นที่ยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกาเหนือ ภูมิภาคตะวันออกกลาง และมาถึงเอเชียแปซิฟิกในปี 2566 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพเกิดใหม่จากโครงการนี้ 86 แบรนด์ มียอดขายเติบโตรวมกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 700 ล้านบาท
นางสุริวัสสา ในแง่ของเทคโนโลยีการเกษตร เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มีฟาร์มตัวอย่าง 196 แห่งใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ที่เป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเพาะปลูก นั่นคือ การนำโดรนบินมาใช้ถ่ายภาพเพื่อมอนิเตอร์ ติดตามโรคและแมลงในแปลงปลูก แล้วประมวลผลกับระบบเอไอ เปรียบเทียบข้อมูลทำให้เกษตรกรตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งการทำภาพอินฟราเรดมาวิเคราะห์สุขภาพดิน ว่าขาดสารอาหารตัวใด ค่ากรดด่างเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งระบบให้น้ำหยด ที่มีการต่อท่อให้น้ำกับมันฝรั่ง
ส่วน นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตร ประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของการปลูกมันฝรั่งในไทยว่า การปลูกมันฝรั่งของ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน ด้วยการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเกษตรกรไทย ตลอด 28 ปีต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งการเพาะปลูก สภาพดินและสภาพอากาศ จนปัจจุบันสามารถผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งสร้างผลผลิตเฉลี่ยมากถึงปีละกว่า 1 แสนตัน ทำให้การผลิตมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ ใช้มันฝรั่งในประเทศถึง 70%
ผู้จัดการฝ่ายเกษตร ประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวต่อว่า มันฝรั่งที่ปลูกในไทยเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จนคุณภาพเหมาะกับสภาพอากาศของไทย ทนต่อโรคในเขตร้อน ทนแล้งได้ดี ให้ผลผลิตสูง และเนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชล้มลุกที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงกลางวันอยู่ที่ประมาณ 24-26 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนอยู่ระหว่าง 14-18 องศาเซลเซียส จึงสามารถปลูกมันฝรั่งได้มากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย ขณะที่ระยะเวลาการปลูกสั้นกว่าปกติ คือ 90 วันก็เก็บเกี่ยวได้
นายอานนท์ กล่าวถึงผลกระทบของสภาพอากาศแปรปรวนต่อการปลูกมันฝรั่งว่า หลังจากที่มีสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยจะเข้าสู่เอลนีโญในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เตรียมพร้อมรับมือไว้อย่างดี ทำให้ภาพรวมผลผลิตปี 2567 อยู่ที่ 94,000 ตัน น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะผลผลิตมันฝรั่งฤดูแล้งทำได้ 72,000 ตันตรงตามเป้าที่วางไว้ แม้ความร้อนจะกระทบให้มันฝรั่งแป้งลดลง ระยะเวลาเก็บเกี่ยวก็สั้นลง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้นจาก ราคาปุ๋ยเคมี เราจึงต้องพยายามมีสิ่งจูงใจให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งต่อไปได้ รวมทั้งช่วยให้เขาเพิ่มผลผลิตมากขึ้น เพื่อไปชดเชยกับต้นทุน โดยเวลานี้ บริษัทรับซื้อที่ราคา กก.ละ 11 บาทสำหรับมันฝรั่งหน้าแล้ง และ 14 กก.สำหรับมันฝรั่งฤดูฝน
ผู้จัดการฝ่ายเกษตร ประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าพื้นที่เพาะปลูกหลักจะเป็นพื้นที่สูงของทางภาคเหนือ แต่ก็มีปลูกในที่ราบสูงของภาคอีสานเช่นกันได้ โดยมีสัดส่วนผลผลิตที่ 11-12% ในจังหวัดสกลนคร และนครพนมพื้นที่ 1,500 ไร่ แต่อีสานเองก็มีข้อจำกัดทางสภาพอากาศที่หนาวเร็ว ร้อนเร็ว และฝนจะเริ่มตกในเดือน มี.ค. ทำให้การปลูกในภาคอีสานจะอยู่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. แต่ทางภาคอีสานพืชหลักเป็นอ้อย พอปลูกมันสำปะหลังสลับจะเกิดปัญหาโรคและแมลงรุมมากว่าภาคเหนือ ทั้งนี้ อุปสรรคในการเพิ่มจำนวนเกษตรกรในแถบภาคเหนือ คือ สังคมสูงวัยเกษตรกรมีอายุมาก อีกทั้งมีพื้นที่ถือครองน้อย เพราะเป็นที่สูงสลับภูเขา ไม่มีที่ราบผืนใหญ่ๆ กลายเป็นข้อจำกัดในการใช้จักรกลหนักทำเกษตรขนาดใหญ่เพื่อทุนแรงไม่ได้
ส่วน นายสุดิปโต กล่าวด้วยว่า ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านทาง เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอในการส่งเสริม และถ่ายทอดเทคนิคการปลูกมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตามบริษัทหวังจะได้รับหารสนับสนุนต่อเนื่องในด้านนโยบาย เช่น การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อการเพาะปลูก การขยายโอกาสเข้าถึงเงินทุน เงินกู้ของเกษตรกรรายย่อย เพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เช่น ถนนหลวงเพื่อการขนส่งมันฝรั่งจากที่สูงทำได้สะดวกมากขึ้น เป็นต้น.