บริษัท ไทย อชิเทค จำกัด แนะนำรถแทรกเตอร์พลังงานไฟฟ้า ที่ออกแบบพัฒนาและสร้างในไทย KIN40 CS และ CHI30CS ที่งาน AGRITECHNICA ASIA 2024 ชูราคาถูกกว่ารถนำเข้าเท่าตัว สามารถใช้งานไฟฟ้าตามบ้านเฟสเดียวได้ โดยการชาร์จ 1 ครั้ง ใช้งานได้ 4 ชั่วโมง พร้อมเทคโนโลยีนำทางด้วยดาวเทียม และโปรแกรมจดจำเส้นทางได้เอง


เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่งาน AGRITECHNICA ASIA 2024 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ได้มีการจัดเสวนา “แทรกเตอร์ไฟฟ้า” กับการสร้างรายได้เกษตรกรไทย โดยบริษัท ไทย อชิเทค จำกัด ได้จัดขึ้น เพื่อแนะนำ “รถแทรกเตอร์ไฟฟ้า” เพื่อการเกษตร ที่ผลิตโดยคนไทย ซึ่งบริษัทมีความมุ่งมั่นในการผลิตและออกแบบภายใต้แนวคิด “Go Greener and Make a Better Life” เพื่อสนับสนุนและยกระดับการทำเกษตรกรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังถือเป็นรถแทรกเตอร์ไฟฟ้า 100% คันแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทได้รับการสนันสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

...

สำหรับการเสวนามีผู้เข้าร่วม ได้แก่ นายเกียรติศักดิ์ กายสุต รองประธานคณะกรรมการแปลงใหญ่ระดับประเทศ และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว นายพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ เลขานุการคณะกรรมการแปลงใหญ่ระดับประเทศ นายกิ่งเพชร เหมโพธิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อชิเทค จำกัด นายจักรินทร์ ทิมกิ่ง ผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนา บริษัท ไทย อชิเทค จำกัด ดำเนินรายการโดย นายอภิวัฒน์ จ่าตา อดีตนายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย

นายกิ่งเพชร กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นการพัฒนากว่า 3 ปี สำหรับรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าที่มาแนะนำในงานนี้มี 2 รุ่น รุ่นแรก คือ KIN40 CS ที่เป็นรุ่นกลาง ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในไร่นา ทั้งการถาง การไถพรวน พลังแรง ด้วยมอเตอร์ 40-60 แรงม้า แรงบิด 220 นิวตันเมตร ประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาพร้อมกับระบบนำทางอัตโนมัติด้วยดาวเทียม GPS ที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องขึ้นไปบังคับเอง โดยหากเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจะอยู่ที่ 2 ล้านกว่าบาท แต่เราผลิตและประกอบในไทย ทำให้ราคาลงมาเหลืออยู่ที่ 1.6 ล้านบาท โปรโมชันในงานอยู่ที่ 1.45 ล้านบาท

รุ่นต่อไปที่นำมาในงาน เป็นรถแทรกเตอร์รุ่นเล็ก สำหรับการใช้งานในสวนผลไม้ ขับไปให้น้ำให้ปุ๋ย วิ่งตามท้องร่องได้ คือรุ่น CHI30 CS ที่มากับมอเตอร์แรงขับ 30 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 130 นิวตันเมตร มีระบบนำทางอัตโนมัติด้วยดาวเทียม GPS เช่นกัน โดยแทรกเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก หากนำเข้าจากต่างประเทศจะอยู่ที่ 2 ล้าน แต่เราทำราคาลงมาได้ที่ 1.35 ล้านบาท 

...

กก.ผจก.บริษัท ไทย อชิเทค จำกัด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รถแทรกเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่น ยังมีจอแสดงผล พร้อมระบบโปรแกรมเส้นทางการไถ สอนให้แทรกเตอร์จำเส้นทางได้ ทุกรุ่นมีช่องชาร์จ USB เพื่อชาร์จมือถือ และอุปกรณ์ต่อพ่วง รวมทั้งไฟส่องสว่างรอบคัน เพื่อการทำงานในที่แสงน้อย แบตเตอรี่ 48 กิโลวัตต์ ใช้งานได้นาน 4-5 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยเกษตรกรสามารถซื้อชุดชาร์จพลังงานสำรองไปติดตั้ง เพื่อชาร์จระหว่างพักการทำงานได้ โดยชาร์จ 1 ชั่วโมง สามารถทำงานเพิ่มได้อีก 4 ชั่วโมง

นายกิ่งเพชร กล่าวอีกว่า ในส่วนของการชาร์จไฟ ทางบริษัทได้ทำโปรโมชันกับทาง EGAT สามารถแลกซื้อแท่นชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง ได้ส่วนลดพิเศษ อย่างไรก็ตาม แทรกเตอร์ไฟฟ้าทุกรุ่นมากับชุดสมาร์ทชาร์จ เพื่อใช้งานกับไฟบ้านกระแสสลับ 220 โวลต์ 1 เฟสได้ โดยสามารถชาร์จ 5-6 ชั่วโมง หรือการชาร์จไฟแบบข้ามคืนได้ ในแง่ความปลอดภัย ตัวแบตเตอรี่รถไฟฟ้าแทรกเตอร์ ออกแบบและผลิตในไทย ผ่านมาตรฐาน R100 ผ่านการทดลองและตรวจสอบจนมั่นใจได้ว่าปลอดภัย โดยรถแทรกเตอร์ 1 คัน จะใช้แบตเตอรี่ 2 ชุด เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 120 บาทต่อการใช้งาน 4 ชั่วโมง ขณะที่รถน้ำมันจะมีอัตราสิ้นเปลืองที่ 90 บาทต่อ 1 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่ารถแทรกเตอร์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายถูกกว่า

...

กก.ผจก.บริษัท ไทย อชิเทค จำกัด กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้งานรถไถไฟฟ้าในไทย นับว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้น ถือเป็นโอกาสที่คนไทยจะได้สัมผัส และเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ นอกเหนือจากจุดเด่นของไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงอยากฝากถึงรัฐบาลให้เข้ามาสนับสนุน ช่วยให้เกษตรไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากรถแทรกเตอร์ไฟฟ้า ทั้งนี้ ในการทำตลาด ก็กำลังมีการพูดคุยกับลูกค้าต่างชาติอยู่ 2-3 ประเทศ สำหรับลูกค้าในไทย มีพูดคุยกับโรงงานน้ำตาลในไทยอยู่ ก็สนใจรุ่นใหญ่อยู่ที่ราวๆ 27 คัน ทางบริษัทพร้อมสำหรับการเปิดสายการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสามารถส่งมอบรถคันแรกได้ใน 3 เดือน

...

ด้าน นายเกียรติศักดิ์ กายสุต รองประธานคณะกรรมการแปลงใหญ่ระดับประเทศ และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า สำหรับรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าของคนไทยนี้ เกษตรกรไม่ต้องกังวลว่าต้องหอบเงินสดมาซื้อ เพราะสามารถจัดไฟแนนซ์ได้เหมือนกับรถยนต์ทั่วไป นี่ถือเป็นก้าวแรกของการไปสู่ยุครถไฟฟ้า แม้เป็นก้าวแรก แต่มันก็ต้องก้าวต่อไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ เหมือนที่ทุกวันนี้เราต้องใช้รถไถและรถเกี่ยวข้าว หรือแม้แต่โดรนเกษตรที่เวลานี้ ชาวนาต่างใช้งานเพื่อโปรยเมล็ด พ่นยาฆ่าแมลงแบบแพร่หลายนั่นเอง

ขณะที่ นายพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ เลขานุการคณะกรรมการแปลงใหญ่ระดับประเทศ กล่าวว่า จากที่ได้นำรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าไปทดสอบการใช้งานในภาคเหนือ ทั้งนาข้าวและสวนลำไยของ จ.ลำพูน ถือว่าผ่าน ตอบสนองการใช้งานได้ดีไม่แพ้รถน้ำมัน เมื่อเทียบกับราคาที่ถูกว่าต่างประเทศ 2 เท่า นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ปรับเปลี่ยนไปใช้งานรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าที่จะเป็นอนาคตต่อไป.