เข้าสู่ฤดูร้อน เกษตรกรสวนทุเรียนตัวอย่างที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ใช้โซลาร์เซลล์ติดตั้งในสวนกับเครื่องสูบน้ำ ดึงน้ำจากคลองรดต้นทุเรียน ลดต้นทุนค่าน้ำมันเครื่องปั่นไฟ ลงทุนไป 103,000 บาท ชูลงทุนครั้งเดียว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เอาน้ำไปรดพืชผัก ภายในสวนด้วย

นายอนุชา จูวัตร เกษตรอำเภอยะหา พาสื่อลงพื้นที่สวนทุเรียน ของนางฉลวย เสาะสุวรรณ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.ละแอ อ.ยะหา จ.ยะลา ดูกระบวนการปลูกและการดูแลบริหารจัดการสวนทุเรียน ในช่วงหน้าแล้ง บนพื้นที่กว่า 3 ไร่ บนเนินเขาที่มีการปลูกทุเรียน อายุ 1-2 ปี กว่า 70 ต้น และต้นทุเรียน อายุ 6-7 ปี ที่เริ่มออกดอก อยู่ในระยะเป็นดอกมะเขือ นอกจากนี้ภายในสวนยังมีการปลูกพืชแซม กล้วยหิน ที่ช่วยบังแดดให้กับต้นทุเรียน คอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับต้นทุเรียน และพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ น้ำคือสิ่งสำคัญในช่วงหน้าแล้ง ที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ต้นทุเรียน และพืชชนิดอื่นๆ ได้เจริญเติบโตได้ดี การบริหารจัดการภายในสวนทุเรียนในระยะยาว คือนำน้ำจากคลองในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จึงได้นำนวัตกรรมโซลาร์เซลล์มาปรับใช้ เพื่อลดต้นทุน

...

นางฉลวย เสาะสุวรรณ เปิดเผยว่า หน้าแล้งในช่วงนี้ ภายในสวนทุเรียน อยู่ในช่วงกำลังออกดอก ต้องการน้ำมากเป็นพิเศษเพื่อความสมบูรณ์ ในระยะเป็นดอกมะเขือ ซึ่งนอกจากปลูกทุเรียนแล้ว ที่นี่มีปลูกกล้วยหิน ผักบุ้ง มะเขือ และพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ เสริม ปีนี้ได้ทำการติดตั้งนวัตกรรมโซลาร์เซลล์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะในสวนไม่มีไฟฟ้า เนื่องจากเป็นที่ภูเขา และห่างไกล จากปกติต้องซื้อน้ำมันเพื่อใช้เติมเครื่องสูบน้ำ ดึงน้ำเข้าในสวน ค่าน้ำมัน ครั้งละ 100 กว่าบาท

สำหรับต้นทุนของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขึ้นอยู่กับระยะพื้นที่ภายในสวน ขั้นตอนการทำงาน ช่วงเช้าเมื่อแดดเริ่มออก ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ก็จะมาเปิดเครื่องโซลาร์เซลล์ จากนั้นเครื่องก็จะทำงานตลอดทั้งวัน จนแดดหมด เพื่อทำการสูบน้ำขึ้นไปพักไว้บนสระน้ำบนเนินเขา พอช่วงเย็น ก็จะทำการเปิดน้ำลงมา รดน้ำทุเรียน และพืชผักภายในสวนจนทั่วแปลง ซึ่งที่นี่ถือเป็นแปลงต้นแบบแปลงแรกที่นำนวัตกรรมโซลาร์เซลล์มาใช้ ต้นทุนในการลงทุนครั้งแรกอยู่ที่ 103,000 บาท ลงทุนครั้งเดียว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว พืชผักภายในสวนเติบโตสวยงาม สร้างรายได้เป็นอย่างดี 

...

สำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และไม้ผลชนิดต่างๆ การนำนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ มาปรับใช้ในยุคปัจจุบัน ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ และเปิดใจยอมรับการทำเกษตรสมัยใหม่ รวมทั้งการเข้ารับอบรมความรู้ใหม่ๆ จากเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คอยให้คำแนะนำ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร สิ่งที่ได้ คือ ช่วยต้นทุน ประหยัดค่าน้ำมัน อาจจะลงทุนสูงในครั้งแรก แต่ใช้ได้ในระยะยาว ผลผลิตเจริญเติบโตได้ดี สร้างรายได้งาม.  

...