แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบางเกษตรสมัยใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สู่ศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อนแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งมีแผนระยะยาวส่งเสริมให้สมาชิกใช้แผนที่ และแอป GISTDA ในการทำเกษตรแม่นยำสูง

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.67 นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรเพิ่มเป้าหมายงานส่งเสริมการเกษตรให้เกษตรกร สามารถผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้น สู่การเกษตรที่ยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกิดผลสำเร็จ ภายใต้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เน้นการส่งเสริมพัฒนาทักษะเกษตรกร ให้สามารถใช้ประโยชน์จาก พฤกษศาสตร์ (Plant Science) เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) และ เทคโนโลยีหมุนเวียน (Circular Technology) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สำหรับแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกกลุ่มแปลงใหญ่ ที่สมาชิกมีความเข้มแข็ง มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

...


กลุ่มแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง มีสมาชิก 124 ราย พื้นที่ 5,217 ไร่ มีการบริหารจัดการแปลงและนำเทคโนโลยี 4 ป +1 IPM มาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1. การปรับระดับหน้าดิน เป็นการปรับระดับพื้นที่นาข้าวด้วยระบบแสงเลเซอร์ เพื่อเกลี่ยหน้าดินให้มีความสูง – ต่ำ ราบเรียบเสมอกันทั้งแปลง ซึ่งเมื่อหน้าดินอยู่ในระดับเดียวกันจะทำให้ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาได้ง่าย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ลดจำนวนวัชพืช และประหยัดน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวได้ 30 – 50% ผลผลิตและคุณภาพข้าวดีขึ้น 2. การทำเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า โดยการปล่อยน้ำขังในแปลงนาในระยะที่ข้าวต้องการน้ำมาก และระบายน้ำออกในช่วงที่ข้าวต้องการน้ำน้อยช่วยให้ระบบรากข้าวแข็งแรง มีการแตกกอดี ทำให้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น ช่วยประหยัดน้ำได้สูงสุด 50% และลดค่าเชื้อเพลิงในการสูบน้ำได้สูงสุด 30% อีกทั้งยังลดการระบาดของแมลง และลดการเกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกได้


3. การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการจัดการธาตุอาหารในนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยที่ไม่จำเป็น รวมถึงส่งผลให้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น เป็นการฟื้นฟูทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น และลดการเกิดก๊าซไนทรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน 4. การแปรสภาพฟางและตอซังข้าว เป็นการจัดการฟางและตอซังข้าวโดยวิธีต่างๆ เช่น ไถกลบตอซังฟางข้าว หรือทำการอัดฟางข้าว เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาทำลาย การไม่เผาฟางและตอซังข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ธาตุไนโตรเจน (N) 8 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส (P) 1 กิโลกรัม และโพแทสเซียม (K) 21 กิโลกรัม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ย และเป็นการเพิ่มปุ๋ยได้อีกด้วย


สำหรับการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน (IPM) เป็นการจัดการศัตรูพืชโดยใช้วิธีการที่หลากหลายร่วมกันอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกัน ควบคุมปริมาณศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นวิธีการควบคุมศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประหยัดต้นทุนและปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี โดยใช้สารชีวภัณฑ์ ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ช่วยลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายในเรื่องของสารเคมี และส่งผลดีในระยะยาว เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


จุดเด่นของกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง คือ มีการใช้เทคโนโลยี 4 ป.+ 1IPM ในการผลิตข้าวลดโลกร้อน ทำให้สมาชิกจำนวน 5 ราย พื้นที่ 133 ไร่ สามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตได้คิดเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท โดยในรอบฤดูกาลผลิตปัจจุบัน สมาชิกจำนวน 124 ราย พื้นที่ 5,217 ไร่ สามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตได้ อีกทั้งยังมีการจัดทำแปลงเรียนรู้ด้านการผลิตข้าวลดโลกร้อน การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต มีแปลงสาธิตการทำนาแบบรักษ์โลก และแปลงต้นแบบในหลายๆ เรื่อง เช่น แปลงต้นแบบการไถกลบตอซังและน้ำหมักชีวภาพ แปลงต้นแบบการใส่ปุ๋ยเฉพาะจุด 20 จุด แปลงต้นแบบการใช้ชีวภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีแปลงเพื่อใช้ทำการศึกษาวิจัยทางด้านข้าว เช่น แปลงวิจัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแปลงวิจัยการเก็บเกี่ยวข้าว กข 43 ในระยะที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบ และแหล่งเรียนรู้ให้กับสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ตำบลเดิมบาง และบุคคลอื่นๆ ที่สนใจ

...


"แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ตั้งเป้าจะพัฒนาและส่งเสริมสมาชิกใช้เทคโนโลยี 4 ป +1 IPM และสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ครบทุกราย ถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งและมีทักษะ ESG Literacy for Resilience: Environment Social Governance หรือความรู้ ความตระหนัก ความเข้าใจถึงการกระทำต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Skills) ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต (เกษตรกร) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน นับได้ว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งยังมีแผนระยะยาวที่จะส่งเสริมให้สมาชิกใช้แผนที่ และ Application ของ GISTDA ในการทำเกษตรแม่นยำสูง เพื่อช่วยบริหารจัดการพื้นที่ปลูกตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว และการยกระดับการผลิตข้าวแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตั้งแต่กระบวนการผลิต การตลาดจนถึงกระบวนการแปรรูปและจำหน่าย โดยกลุ่มแปลงใหญ่ สมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลเดิมบาง เป็นผู้ประกอบการตลอดทั้งกระบวนการ"รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

...