สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เปลูก พืชตระกูลแตง อาทิ แตงกวา แตงโม เมล่อน แคนตาลูป ฟักทอง มะระจีน และบวบ หมั่นตรวจสอบสวน ระวัง แมลงวันหนอนชอนใบ และด้วงเต่าแตงแดง หากระบาดรุนแรง จะกระทบต่อผลผลิตได้

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง อาทิ แตงกวา แตงโม เมล่อน แคนตาลูป ฟักทอง มะระจีน และบวบ ให้เกษตรกรหมั่นสังเกตการเข้าทำลายของแมลงวันหนอนชอนใบ และด้วงเต่าแตงแดง ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืชตระกูลแตง สำหรับแมลงวันหนอนชอนใบ มักพบตัวหนอนชอนไชอยู่ในใบ ทำให้เกิดรอยเส้นสีขาวคดเคี้ยวไปมา เมื่อนำใบพืชมาส่องดูจะพบหนอนตัวเล็กสีเหลืองอ่อนโปร่งใสอยู่ภายในเนื้อเยื่อใบพืช กรณีระบาดรุนแรง จะทำให้ใบเสียหายและร่วงหล่น ซึ่งอาจมีผลต่อผลผลิตได้

หากพบเริ่มระบาด ให้เกษตรกรเก็บเศษใบพืชที่ถูกทำลายนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากหนอนชอนใบและดักแด้หนอนชอนใบที่อาศัยอยู่ตามเศษใบพืชบนพื้นดินจะถูกทำลายไปด้วย จากนั้นให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

...

นอกจากนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังด้วงเต่าแตงแดง จะพบตัวด้วงเข้าทำลายแทะกัดกินใบยอด หากระบาดรุนแรง อาจทำให้ต้นพืชชะงักการทอดยอดได้ หากพบการเข้าทำลายของด้วงเต่าแตงแดง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูสวนในเวลาเช้าที่แดดยังไม่จัด โดยให้ใช้วิธีกลในการจับตัวด้วงเต่าแตงแดงมาทำลายด้วยมือ จะสามารถช่วยลดการระบาดลงได้มาก ขณะเดียวกันภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรถอนทำลายต้นทิ้ง เก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือ และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตงแดงต่อไป

สำหรับการใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดด้วงเต่าแตงแดง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร.