รมว.เกษตรฯ หนุนกรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อน "เทคโนโลยี Gene Editing แก้ปัญหาภาวะวิกฤติโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่" ที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ด้วยการปรับแต่งยีน ไม่ใช้การถ่ายฝากหรือตัดแต่งพันธุกรรม

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมามอบนโยบายในการสัมมนาวิชาการ "เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤติโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่" ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสมาคมฯ นักวิชาการ จากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมสัมมนา ระดมความคิด แนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเทคโนโลยี และความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่ เพื่อรองรับภาวะโลกเดือดของโลกที่กำลังจะมาถึง ณ ห้องประชุมกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร 

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและรุนแรง จนเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกประกาศว่า "ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง ยุคโลกเดือดมาถึงแล้ว" ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชอุบัติใหม่ที่สำคัญ อาทิ โรคใบด่างมันสำปะหลัง โรคใบร่วงยางพารา ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่และเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง คุ้มค่า พัฒนาได้รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ จึงมีความจำเป็น 

...

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงปัญหาภาวะวิกฤติดังกล่าว จึงเร่งผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ให้ก้าวทันบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ Gene Editing หรือ GEd ในการแก้ไข หรือปรับแต่งยีนให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้านทานศัตรูพืช มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเทคโนโลยี GEd ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), OECD มี 13 ประเทศ ประกาศสนับสนุนในที่ประชุม WTO ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd เชิงการค้าและการบริโภคร่วมกัน และกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย ประกาศใช้นโยบาย no transgene = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป ที่สำคัญองค์กรนานาชาติ และประเทศต่างๆ เร่งลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี GEd เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd และกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของประเทศไทยในทิศทางเดียวกัน กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก FAO และประเทศต่างๆ อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ร่วมผลักดันและสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม

...

ด้าน นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเน้นย้ำว่า การจัดประชุมสัมมนาวิชาการ ในวันนี้ เพื่อระดมความคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ และจัดทำแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd ของประเทศไทย สื่อสารกับประชาชนและผู้บริโภค ให้เป็นที่เข้าใจว่าเทคโนโลยี GEd แตกต่างกับ GMOs รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภาวะวิกฤติโลกเดือดและศัตรูพืชอุบัติใหม่ ซึ่งการประชุมสัมมนาวันนี้ จะนำไปสู่ท่าทีที่ชัดเจนของประเทศไทย ในด้านเทคโนโลยี GEd ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd อย่างเป็นรูปธรรม ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป.

...