กสว.เห็นชอบหลักเกณฑ์การตั้งคําของบประมาณ-การจัดสรรงบประมาณ ปี 2567 เร่งเสริมแกร่งหลากวาระใหญ่ระดับชาติตามนโยบายรัฐ โดยเฉพาะการนำผลการวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์ ด้วยกองทุนส่งเสริม ววน. และการร่วมทุนระหว่างรัฐ-เอกชน เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุม คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เพื่อหารือวาระต่างๆ ได้แก่ แนวทางการปรับปรุงรายละเอียดคำของบประมาณขั้นต้นหรือ Pre-ceiling ของแผนงาน P8 เพื่อให้ประเทศไทยมีธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise: IDE ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม แผนงาน P14 การพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะในการดำรงชีวิตโดยใช้การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมแผนงาน P25 การพัฒนาความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม งบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ หรือ Semiconductor และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก รวมถึงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของกองทุนส่งเสริม ววน. และโครงการร่วมทุนของภาครัฐและเอกชนในกองทุนที่สนับสนุน สตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น
...
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า การปรับปรุงรายละเอียดคำขอฯ และแผนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเพิ่มจุดมุ่งเน้นที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาประเทศ ในส่วนนี้ กสว.จึงได้มีการหารือ และมีนโยบายในการดำเนินงานที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของเกษตรและอาหาร ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำผลการวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์ซึ่งสามารถเห็นผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากภาคการเกษตรมีผู้ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมาก
จึงมอบให้ สกสว.ได้จัดเตรียมโครงการสำคัญภายใต้แผนงานการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และแผนงานสำคัญอื่นๆ ไว้เสนอแก่คณะกรรมการพิจารณางบประมาณรายจ่ายให้มากขึ้น
ดังนั้นที่ประชุมจึงได้พิจารณาแนวทางการปรับแผนดำเนินการและงบประมาณเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (RU: Research Utilisation) ใน 3 ประเด็น คือ
1.การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) โดยมุ่งเน้น SMEs และ Startup
2.การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาเชิงระบบในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยใช้กลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
3.ความมั่นคงของประเทศ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดำรงสภาพยุทโธปกรณ์ และการดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศ
โดยมอบ สกสว. ประสานแจ้งหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 หน่วย จัดทำสรุปข้อเสนอแผนงานย่อยรายประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการจัดกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป
...
นอกจากแผนงานที่สนองตอบความต้องการของรัฐบาลแล้ว ยังพิจารณาแผนงานที่ตอบสนองต่อนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทั้งในประเด็นท้าทายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ภาระหนี้ครัวเรือน สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ประเด็นเร่งด่วน เช่น แก้ปัญหาหนี้สิน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และประเด็นการสร้างรายได้ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เป็นต้น รวมถึงแนวทางการกลั่นกรองคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Development) ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น การร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ หรือ semiconductor และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทดแทนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิม ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมการทำงานร่วมกันในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
...
รวมทั้ง การร่วมทุนของภาครัฐและเอกชน ในรูปแบบ Venture Capital (VC) หรือกองทุนร่วมลงทุน ซึ่งสามารถสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ และผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากเงินลงทุนกลับคืนสู่กองทุนส่งเสริม ววน. ในฐานะผู้ร่วมลงทุนให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศการใช้นวัตกรรม สร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย.
...