อิทธิพัทธ์ เอี่ยมสมาน Young Smart Farmer จากสิงห์บุรี คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานฯ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” ที่สยามคูโบต้าและกรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งเฟ้นหานักพัฒนาแปลงเพาะปลูกข้าว ด้วยนวัตกรรมปฏิทินการเพาะปลูกครั้งแรกของไทย ได้สิทธิ์ไปดูงานที่ญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศผลการตัดสินโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” เพื่อค้นหาสุดยอดนักพัฒนาแปลงเพาะปลูกข้าวด้วยนวัตกรรมปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Online ครั้งแรกของไทย ที่คูโบต้า ฟาร์ม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้ามุ่งเน้นส่งเสริมภาคการเกษตรให้ก้าวสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming เพราะนอกจากจะทำให้ การทำเกษตรมีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกรในการตั้งรับปัญหา อันเกิดจากปัจจัยของสภาพภูมิอากาศที่ยากต่อการควบคุม โดยที่ผลผลิตยังได้คุณภาพและปริมาณตามเป้าหมาย โดยเกษตรกรสามารถใช้ปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Online ผ่านแอปพลิเคชัน Line@ Siam Kubota เพื่อบริหารจัดการได้ Real Time แม่นยำและมีแบบแผน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าใช้งานแล้วกว่า 2,000 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
...
กก.รอง ผจก.บริษัทสยามคูโบต้าฯ กล่าวต่อว่า สยามคูโบต้าร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดโครงการฯ นี้ เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer เข้ามาแข่งขันพัฒนาแปลงเพาะปลูกข้าว ผ่านปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Online ในช่วงฤดูกาลปลูกข้าวนาปีเดือนมิถุนายน ตั้งแต่การเตรียมดิน ปลูกข้าว บำรุงรักษาแปลง จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้า พร้อมทำการบันทึกข้อมูลโดยใช้ปฏิทินปลูกข้าว KAS Crop Calendar Online ตลอดทั้งกระบวนการ จากนั้นคณะกรรมการได้เฟ้นหาผู้ชนะ โดยพิจารณาถึงความตั้งใจและความละเอียดของการลงข้อมูล ผลผลิตและความสมบูรณ์ของแปลง การใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในแปลง ตลอดจนการนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเอง
นางวราภรณ์ กล่าวอีกว่า ตลอดกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเกษตรกรทุกคนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาแปลงเพาะปลูกของตนเอง และต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะของโครงการในปีนี้ ซึ่งเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะ นอกจากนี้ผู้ชนะและรองทั้ง 4 คนจะได้มีโอกาสบินไปศึกษาดูงาน Smart Farming ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
"สยามคูโบต้าหวังว่าโครงการนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกร ได้เห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือจดบันทึกการเพาะปลูก รายรับรายจ่าย และใช้เมล็ดพันธุ์อย่างคุ้มค่า ควบคุมการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างเหมาะสม และลดการใช้สารเคมี แต่ได้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตเพิ่มขึ้น นำมาสู่รายได้ที่ยั่งยืนตามมา ซึ่งทางสยามคูโบต้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือจดบันทึกการเพาะปลูก รายรับรายจ่าย และสามารถใช้เมล็ดพันธุ์อย่างคุ้มค่า ควบคุมการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างเหมาะสม และลดการใช้สารเคมี แต่ได้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตเพิ่มขึ้น นำมาสู่รายได้ที่ยั่งยืนตามมา" กก.รอง ผจก.บริษัทสยามคูโบต้าฯ กล่าว
...
ด้าน นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ด้วยการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร โดยเน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีความรอบรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุน พร้อมทั้งสร้างผู้นำด้านเกษตรที่เป็นเกษตรกรชั้นนำ ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานโครงการ Young Smart Farmer มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 20,800 ราย ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างเครือข่าย โดยให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง”
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ทางกรมฯ ได้ประชาสัมพันธ์โครงการนี้ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย Young Smart Farmer ที่เป็นสมาชิก รวมถึงผู้สนใจทั่วไป พร้อมทั้งสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้าวเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และสนับสนุนการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กลุ่มสมาชิกในโครงการ Young Smart Farmer และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อต่อยอดความยั่งยืนของเกษตรกรรมไทย เชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญในอาชีพของตนเอง และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดให้ชุมชนต่อไป
...
สำหรับผู้ทำคะแนนรวมสูงสุดรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” ได้แก่ นายอิทธิพัทธ์ เอี่ยมสมาน หรือ อิท Young Smart Farmer วัย 34 ปี จากจังหวัดสิงห์บุรี และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่
1. เอกราช ขอพึ่ง Young Smart Farmer จังหวัดสุพรรณบุรี
2. พิจาริณี รักศรี Young Smart Farmer จังหวัดนครสวรรค์
3. วิญญู คำหอม Young Smart Farmer จังหวัดศรีสะเกษ
4. อัจฉรา จุมภูก๋า Young Smart Farmer จังหวัดเชียงใหม่
...
โดยรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ทั้ง 5 คน จะได้ร่วมบินศึกษาดูงาน Smart Farming ณ ประเทศญี่ปุ่นรางวัลละ 2 ที่นั่ง นอกจากนี้ ยังมี รางวัลสุดยอด TikTok Creator ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่ทำคอนเทนต์การเพาะปลูกของตัวเองลงในช่องทาง TikTok อย่างต่อเนื่อง และสร้างยอดผู้ติดตามได้สูงสุด โดย อิท - อิทธิพัทธ์ เอี่ยมสมาน Young Smart Farmer จังหวัดสิงห์บุรี ยังคว้ารางวัลนี้ไปครองด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมี รางวัล TikTok Creator ดีเด่น อีก 6 รางวัล ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่
1. พิลาสลักษณ์ อนันตธนโชคดี จังหวัดพะเยา
2. ณัฏกานต์ ดากาวงค์ จังหวัดสกลนคร
3. พิจาริณี รักศรี จังหวัดนครสวรรค์
4. วิญญู คำหอม จังหวัดศรีสะเกษ
5. ชานนท์ ไพศรี จังหวัดสิงห์บุรี
6. วราภรณ์ ชูใจ จังหวัดเพชรบุรี
ส่วน นายอิทธิพัทธ์ เอี่ยมสมาน Young Smart Farmer จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคว้าถ้วยพระราชทานฯ ตัวเองถือเป็นลูกหลานครอบครัวชาวนา คุ้นเคยกับวิถีชีวิตชาวนามาตั้งแต่เล็ก หลักเรียนจบปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจจาก ม.รามคำแหง ก็กลับไปอยู่บ้านช่วยพ่อกับแม่ เมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ จึงลองนำที่ดิน 5 ไร่ที่มีมาปลูกข้าวโดยใช้ ปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Online ในช่วงฤดูกาลปลูกข้าวนาปีเดือนมิถุนายน ผ่านไป 4 เดือนก็เก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ราวๆ 4 หมื่นบาท กระบวนการปลูกนำเอาคำแนะนำที่ได้จากแอปฯ มาปรับใช้เตรียมดิน ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ย รวมทั้งคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูกในรอบหน้า นอกจากนี้ยังทำคลิปลง Tiktok ช่องชาวนาพารวย สอนการทำนา ชีวิตชาวนาแบบง่ายจนมีคนดูคลิปเป็นแสนวิว โดยนำเอาความรู้จากการอบรมไปปรับใช้สร้างคอนเทนต์จนได้รับรางวัลในที่สุด
สำหรับผู้ได้รับรางวัลและผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรวม 30 คน ยังได้รับใบประกาศนียบัตรโครงการฯ อีกด้วย.