รองปลัดเกษตรฯ ร่วมเปิดประชุมนานาชาติ ด้านการประมง “IFS 2023” โชว์ผลงานวิชาการ การพัฒนากุ้งก้ามกราม ตลอดจนมุ่งสร้างเครือข่ายการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระดับสากล
         
นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมนานาชาติด้านการประมง 11th International Fisheries Symposium (IFS) 2023 ภายใต้หัวข้อ “การสร้างการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืน สำหรับอนุชนรุ่นหลัง” (Building Sustainable Fisheries and Aquaculture for Future Generations) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือ สู่แนวทางในการกำหนดทิศทางอนาคตการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในแนวทางปฏิบัติด้านการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีความรับผิดชอบ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

...

ภายในงานมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ดร.พิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ รองประธานกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) ดร.คาซูโอะ ยามาโมโตะ (Dr. Kazuo Yamamoto) อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ดร.ยอง ยิก ซอง (Dr. Yeong Yik Sung) ประธานสถาบันการจัดการศึกษาด้านประมงของอาเซียน (ASEAN Fisheries Education Network : ASEAN-FEN) เข้าร่วมและกล่าวต้อนรับ ตลอดจน ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สมาชิกจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัย 37 แห่งในภูมิภาคอาเซียน และผู้แทนจากองค์กรภาครัฐและเอกชนจาก 24 ประเทศทั่วโลก อาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย ผู้แทนองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน รวมกว่า 350 คน เข้าร่วม ณ ห้องนครรังสิต บอลรูม โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นําการผลิตอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงของโลก มีชนิดพันธุ์สัตว์น้ําทะเลและน้ําจืดหลากหลายสายพันธุ์ และมีอุตสาหกรรมการประมงที่มีความเจริญรุ่งเรือง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําเป็นภาคส่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดภาคหนึ่ง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีบทบาทสําคัญในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา แม้จะยังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง เช่น โรคสัตว์น้ําและปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ที่มุ่งหวังที่จะรักษาผลผลิตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างการจัดการทรัพยากรประมงกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม การเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเกษตรกร โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อให้การประมงของไทย สามารถแข่งขันได้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีความหลากหลาย รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

...

สำหรับการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมประจำปีของเครือข่ายสถาบันการจัดการศึกษาด้านประมงของอาเซียน (ASEAN-FEN) โดยกรมประมงให้การสนับสนุนร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2566 โดยมีการนำเสนอ 7 หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย อุตสาหกรรมประมงของภูมิภาคอาเซียน อาทิ การใช้ประโยชน์จากการผลิตอาร์ทีเมียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีและการจัดการทรัพยากรประมง โภชนาการอาหารสัตว์น้ำ ชีววิทยาสัตว์น้ำ การจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ ฯลฯ อีกทั้งยังมีการสัมมนาใน 3 หัวข้อพิเศษ ได้แก่ แนวทางการเลี้ยงกุ้งในอนาคต การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต คุณค่าสาหร่ายทะเล ตลอดจนมีการนำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ณ ท่าเทียบเรือประมง สมุทรสาคร และศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 5 (สมุทรสาคร) และฟาร์มเลี้ยงกุ้ง จังหวัดฉะเชิงเทรา

      

...

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากมหาวิทยาลัย ภาคเอกชนบริษัท โดยในส่วนของกรมประมงได้นำผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ 1) การพัฒนาพันธุ์กุ้งก้ามกราม มาโคร 1,3 2) ข้อมูล Thailand fisheries supply chain 3) BCG Model กุ้งก้ามกรามจังหวัดราชบุรี และ 4) Fishermanshop ร่วมจัดแสดง
     
นอกจากนี้ กรมประมง ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ  Shanghai Ocean University จัดการประชุม GIANT PRAWN 2023 (GP 2023) ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเป็นการประชุมหารือแนวทางในการพัฒนาการผลิตกุ้งก้ามกรามอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยมีนักวิจัยด้านการประมงทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเข้าร่วมการประชุมฯ.