กรมวิชาการเกษตร แนะนำในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวด้วยวิธีเขตกรรมและวิธีกล โดยตัดใบที่มีหนอนไปเผาทำลาย การใช้ชีววิธี การใช้แตนเบียนกับหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนาม การใช้ชีวภัณฑ์ แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซีส และการใช้สารเคมี เจาะสารเข้าต้น
ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนามมะพร้าวในพื้นที่มีการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว โดยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 358,544 ไร่ ซึ่งเป็นพืชหลักของเกษตรกร จากข้อมูลการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว 7,585 ไร่ โดยระบาดรุนแรง 166 ไร่ และพบการระบาดของแมลงดำหนามมะพร้าว 8,040 ไร่ ระบาดรุนแรง 78 ไร่
...
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า จากปัญหาความรุนแรงของแมลงศัตรูมะพร้าวที่เกิดขึ้น กรมวิชาการเกษตรได้เร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อจำกัดพื้นที่และลดความรุนแรงของการระบาดไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง อีกทั้งควบคุมจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากต่อการควบคุม โดยกรมวิชาการเกษตร มีคำแนะนำในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว ได้แก่ วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที การใช้ชีววิธี การใช้แตนเบียนที่เฉพาะเจาะจงกับหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนามมะพร้าว การใช้ชีวภัณฑ์ แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซีส อัตรา 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และการใช้สารเคมี เจาะสารเข้าต้น ใช้สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น
ดร.ภัสชญภณ กล่าวถึงการลงพื้นที่ของคณะเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ว่า ไปเพื่อให้ความรู้การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ระบาดรุนแรง จำนวน 30 ราย พร้อมทั้งสาธิตวิธีการเจาะลำต้นมะพร้าวและฉีดสารอีมาเม็กติน เบนโซเอต 1.92% อีซี เข้มข้น โดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว วิธีการนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจะป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ได้นานประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะสามารถตัดวงจรชีวิตของหนอนหัวดำมะพร้าว ทำให้การระบาดลดลง วิธีดังกล่าวนี้ สามารถป้องกันกำจัดได้ทั้งด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว และปิดรูที่เจาะด้วยดินน้ำมัน หลังจากพ่นสารเคมีแล้ว 2 สัปดาห์ ใช้วิธีป้องกันโดยปล่อยแตนเบียน ที่ได้รับมอบจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร เป็นวิธีการการควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าวที่ได้ผลระยะยาว ซึ่งเกษตรกรที่เข้ามารับความรู้และชมการสาธิตในครั้งนี้ได้ให้ความสนใจเรียนรู้เป็นอย่างมาก
...
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมปรึกษาหารือแนวทางแก้ปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนามมะพร้าว โดยได้มอบหมายให้ นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อติดตามการระบาดของศัตรูพืชทั้งโรคและแมลง และให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิด
...
ดร.ภัสชญภณ กล่าวด้วยว่า หากพบการระบาดให้รีบเข้าไปแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดโดยเร็ว พร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรและผู้นำชุมชนในพื้นที่ และเน้นย้ำให้ นายกิติพร เจริญสุข ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรประจวบคีรีขันธ์และเจ้าหน้าที่ ติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอทับสะแก และหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวมีความมั่นใจในการควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าว ซึ่งนำไปสู่ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพต่อไป.