กรมวิชาการเกษตร จับมือ สถาบันวิจัยพื้นที่สูงฯ ช่วยเกษตรกรผลิตข้าวโพด กาแฟบนพื้นที่สูง และพืชผักอินทรีย์ โดยจะร่วมสนับสนุนขยายการผลิตชีวภัณฑ์ และแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการซังข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว รวมทั้งการป้องกันโรครากเน่าในต้นอะโวคาโด

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมีนางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยคณะทำงานร่วมลงพื้นที่ด้วย โดยได้ประชุมร่วมกับตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด และกาแฟอะราบิกา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น สภาพปัญหาการผลิต ข้าวโพดและกาแฟของเกษตรกร เพื่อทั้ง 2 หน่วยงานจะได้ร่วมกันหาแนวทางส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอด เสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการผลิตข้าวโพดและกาแฟเพิ่มเติมบนพื้นที่สูง โดยมีคณะทำงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่แปลงปลูกข้าวโพด และแปลงทดสอบการปลูกกาแฟ รวมทั้งแปลงผลิตอะโวคาโด (พันธุ์แฮส) และการผลิตพืชผักอินทรีย์ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากกรมวิชาการเกษตร

...

จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 285,004 ไร่ ให้ผลผลิต 205,191 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 720 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอแม่แจ่มปลูกมากที่สุด ประมาณ 170,000 ไร่ มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกันยายน 2566 - มกราคม 2567 ราคาที่เกษตรกรขายผลผลิตช่วงออกสู่ตลาด ความชื้น 14% เฉลี่ย 10.77 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้รวบรวมในพื้นที่ร้อยละ 80 และจำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ ร้อยละ 20 ปลายทางของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มไก่ไข่ - เชียงใหม่ ลำพูน คาดว่าจะมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในปี 2566 จำนวน 8.37 ล้านตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลการร่วมกันติดตามงานในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร จะร่วมสนับสนุนในการขยายการผลิตชีวภัณฑ์ให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการซังข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว และการปลูกไม้ผลที่ให้ผลผลิตรวดเร็วที่สามารถเป็นสินค้าเกษตรส่งออกไปจีนได้ ได้แก่ ขนุน ร่วมกับกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่ๆ มีความสูงเหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยได้มอบหมายให้ นางสาวจงรัก อิ่มใจ ผอ.สวพ.เขต 1 เชียงใหม่ เลขานุการคณะทำงานใน MOU นี้ จัดทีมนักวิจัยมาให้คำแนะนำให้ครบวงจร

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะสนับสนุนกิ่งพันธุ์มะคาเดเมีย และต้นกล้าพันธุ์กาแฟอะราบิกาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม พร้อมกับสนับสนุนทางวิชาการในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าในอะโวคาโด ซึ่งเริ่มระบาดในสวนเกษตรกร โดยจะสนับสนุนนวัตกรรมการใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี พร้อมวิธีการดูแลรักษาเพื่อให้สามารถปลูกอะโวคาโดคุณภาพดี และปริมาณผลผลิตสูง รวมถึงการเพิ่มปริมาณการดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์

...

“ในการลงพื้นที่ครั้งนี้คณะทำงานฯ ได้เชิญนายเอก สุวรรณโณ เกษตรกรและ Processor เจ้าของกาแฟ The first vallay academy ซึ่งมีประสบการณ์และสนับสนุนเมล็ดกาแฟให้กับผู้แข่งขันจนได้รับรางวัลอันดับ 9 ในการแข่งขันบาริสตาโลก ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพ และชิมให้คะแนนกาแฟที่เกษตรกรนำมาให้ชิมทดสอบเบื้องต้น ซึ่งผลการให้คะแนนเบื้องต้น ทั้ง 2 ราย มีระดับคะแนนระดับดีเยี่ยม ทั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการทั้ง 5 ราย ซึ่งจะสนับสนุนการสร้างคุณค่าและมูลค่ายกระดับเป้าหมาย “กาแฟไทย กาแฟระดับโลก” ได้รวดเร็วขึ้น" รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว.