Krungthai Compass ชี้ เทคโนโลยี Agrivoltaic ช่วยยกระดับภาคเกษตรไทย ภายใต้แนวคิด ESG โดยเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จาการลงทุน จากต้นทุนค่าพลังงานที่ลดลง โดยคาดกันว่ามูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์สำหรับแปลงนาไทย มีถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

เทคโนโลยี Agrivoltaic (อะกริวอลเทอิกส์) คือ การใช้พื้นที่ร่วมกันของภาคเกษตร เช่น การทำกสิกรรม ปศุสัตว์ ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (แผงพลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในขณะที่ยังคงใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร โดยเทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศจาก 3 ปัจจัยหนุน ได้แก่


1) Agrivoltaic สอดรับกับเทรนด์ ESG หรือ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่หวังกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 2) ต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง 3) ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ของภาคเกษตร

...

ภาคเกษตรไทยคาดจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนเทคโนโลยี Agrivoltaic จากต้นทุนค่าพลังงานที่ลดลง เช่น เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าว จำนวน 14 ไร่ ซึ่งเพาะปลูกปีละ 2 ครั้ง จะได้ผลประโยชน์สุทธิจากการลงทุนเทคโนโลยีนี้ราว 20,500 บาทต่อปี และใช้เวลาคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 10,000 ตัว ที่มีรอบการเลี้ยงประมาณ 5 รอบต่อปี จะได้ผลประโยชน์สุทธิราว 670,000 บาทต่อปี และใช้เวลาคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี

คาดว่าในปี 2573 มูลค่าตลาด Agrivoltaic จะเติบโตไปอยู่ที่ 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 312.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 124.9 พันล้านบาท (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ปีละ 12.1% (CAGR% 2565-2573) จากการเติบโตของเทรนด์ ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การเข้าถึงของเกษตรกรมีแนวโน้มถูกลง ทำให้มีการใช้งานแพร่หลายมากยิ่งขึ้น 

...

ส่วนมูลค่าตลาด Agrivoltaic ของไทยคาดว่าจะเติบโตตามแนวโน้มตลาดโลก โดยปัจจุบันแม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดประเมินมูลค่าตลาดชัดเจน แต่คาดว่าหากภาครัฐมีการผลักดันให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวแบบเกษตรแปลงใหญ่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ก่อน จะทำให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์สำหรับแปลงนาข้าวในไทยมีโอกาสสูงถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

Krungthai COMPASS แนะนำให้ภาคเกษตรสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ที่เหมาะสมกับพืชหรือปศุสัตว์แต่ละชนิด นอกจากนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่เกษตรกร เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจากการใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ในบางช่วงเวลาพืชที่ปลูกใต้แผงโซลาร์เซลล์อาจได้รับแสงไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลลบต่อผลผลิตต่อไร่.

ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ รอยเตอร์ส.