ครูหนุ่มวัย 31 บ้านทุ่งสวรรค์ อ.ส่องดาว นำนวัตกรรมยางพารามาสกัดเป็นดีเซล B100 โดยดีเซล 1 ลิตร ใช้ต้นทุนทำ 4 บาท ด้าน สส.ด่าง สกลนคร เขต 5 เตรียมผลักดันต่อยอดให้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือก โดยหวังผลิตใช้งานในชุมชนเติมรถไถนา เครื่องสูบน้ำ


เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มานาคาเฟ่ เลขที่ 91 หมู่ 13 บ้านทุ่งสวรรค์ ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร บ้านของครูน้อย หรือ นายทวีชัย ไกรดวง อายุ 33 ปี ผู้มีความสามารถในการผลิตยางพาราสกัดเป็นพลังงานเชื้อเพลิงใช้กับรถไถนา เครื่องสูบน้ำ โดยมี นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ นายไสว ทะจรสมบัติ นายก ทต.ท่าศิลา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สท. เข้าร่วมสังเกตการณ์การสาธิต การผลิต และการทดลองใช้งาน ปรากฏว่าเมื่อเติมเชื้อเพลิงที่สกัดจากยางพาราใส่รถไถนาและเครื่องสูบน้ำแล้วใช้ได้จริง เครื่องไม่มีสะดุดหรือมีปัญหากับเครื่องยนต์

...

ครูน้อย กล่าวว่า ตนใช้เครื่องกรองน้ำในโรงเรียนรุ่นเก่าที่ไม่ใช้ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องสกัดน้ำมัน ใช้ทุน 4,500 บาท ขั้นตอนการผลิตส่วนผสม 1 ลิตร ใช้ต้นทุนเท่าไร ตอบนะครับ 1 ลิตร ใช้ต้นทุน 4 บาทในการกลั่นยางพารา เพื่อออกมาเป็นน้ำมันดีเซล B100 ในช่วงแรกต้องการผลิตขายให้กับชุมชน เพื่อสร้างชุมชนแต่ละชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งตามหลักทฤษฎีป่าล้อมเมือง แต่ยังไม่ขายให้กับเอกชนที่จะนำไปทำกำไร เพราะจะทำให้เกษตรกรเสียโอกาส ในการใช้น้ำมันที่มีราคาต่ำกว่าตลาด

ครูหนุ่มนักประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากขายเครื่องให้เอกชน เอกชนก็จะเอาเครื่องไปสร้างกำไร แล้วดึงราคาน้ำมันให้เท่ากัน หรือต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเครื่องพวกนี้ไปอยู่ประจำในตัวจังหวัด จังหวัดละ 1 เครื่อง เป็นการจุดประกายเกษตรกรเล็กๆ โดยผู้ที่สนใจที่ต้องการศึกษาดูงาน ศึกษาเครื่อง ให้เข้าไปเรียนรู้ศึกษา และก็เป็นการส่งเสริมรัฐวิสาหกิจชุมชนอีกทางด้วย

...

ครูน้อย กล่าวอีกว่า การจดสิทธิบัตรหรือไม่นั้น ยังไม่จดสิทธิบัตร แต่ก็เปิด open ให้กับนักพัฒนานักประดิษฐ์ของประเทศไทยได้ต่อยอด เพื่อเป็นการช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมยางพาราของประเทศไทยต่อไป ในยุคราคาตกต่ำ สามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกร อันแรกที่คิดไว้คือให้เกษตรกรนำยางพาราที่ตัวเองมีอยู่ นำมาเข้าเครื่องกัน โดยเสียค่าการผลิตลิตรละ 4 บาท แล้วนำน้ำมันกลับบ้าน เติมรถไถนาของตัวเองที่ทำการเกษตร เพื่อลดต้นทุนในการทำการเกษตร ทำไร่ทำนา สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนก่อน ขั้นตอนต่อไปเป็นการรวมชุมชนสร้างรัฐวิสาหกิจ การกลั่นยางพาราเป็นน้ำมัน เพื่อขายในระดับชุมชน ขั้นที่ 3 คือ การสร้างเครื่องและให้ความรู้ในระดับจังหวัด

...

ด้าน นายชัยมงคล ไชยรบ กล่าวว่า ได้ให้คำแนะนำว่าควรไปขึ้นบัญชีนวัตกรรม กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จากนั้นนำแนวคิดนี้ไปหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดหางบประมาณลงมาให้ท้องถิ่นดำเนินการ อาจจะจัดซื้อเครื่องสกัดมาไว้ตำบลละ 1 เครื่อง แล้วเกษตรกรนำยางพารามาขายเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมัน โดยก่อนหน้านี้ ครูน้อยใช้นวัตกรรมระบบ GPS กับรถไถนาเดินตาม เพื่อทดแทนการใช้แรงงานคน จากการบังคับรถไถนาเดินตาม ด้วยรีโมตคอนโทรล ซึ่งมีวิธีการทำงาน คือ การควบคุมด้วยระบบดาวเทียม เมื่อรถไถประสบปัญหาที่นา เป็นหลุมลึก 30 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีสิ่งกีดขวาง รถไถเดินตามก็จะหยุดทันที แล้วจะใช้รีโมตบังคับเลี้ยวหลบหลุม ปัจจุบันครูน้อยเป็นพนักงานราชการ สังกัดโรงเรียนบ่อน้อยประชาสรรค์ ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี สำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1.