จ.หนองคาย บูรณาการความร่วมมือกับสยามคูโบต้า เดินหน้าสร้างเมืองต้นแบบปลอดการเผา โดยนำความรู้ นวัตกรรมการเกษตร และเครื่องจักรการเกษตร มาใช้ไถกลบเพื่อลดการเผาซังตอข้าว ที่สร้างฝุ่นละออง PM 2.5 สู่เป้าหมาย Net Zero Emission

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่ โรงแรมรอยัลนาคารา อ.เมือง จ.หนองคาย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และ นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นางสุวรรณี ศิริวรรณ์หอม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารบริษัทเจียงอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเดินหน้า "หนองคาย เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission" เป็นจังหวัดที่ 10 ดึงองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร แก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ตลอดจนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ได้รับความสนใจและตื่นตัวขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยเราได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยมาจากภาคเกษตรกรรมถึง 15% โดยพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ยังส่งผลกระทบกับสุขภาพ จากฝุ่นละออง PM 2.5 สยามคูโบต้าจึงได้ดำเนินกิจกรรมโซลูชันเกษตรปลอดการเผาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อรณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตโดยวิธีการทำเกษตรปลอดการเผา ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย

...

กก.รอง ผจก.ใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวต่อว่า สำหรับโซลูชั่นการเกษตรนี้ คือการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจรมาปรับใช้ ในปี 2562 ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ รวมถึงดำเนินการจัดลงนามมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ไปแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดราชบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดสุโขทัย ส่งผลให้ลดการเผาในภาคการเกษตรจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 59% เมื่อเทียบจำนวนจุดความร้อนก่อนเข้าร่วมโครงการฯ

นางวราภรณ์กล่าวอีกว่า นอกจากสามารถลดการเผาในพื้นที่เกษตรแล้ว ยังสร้างรายได้และคืนสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้พี่น้องเกษตรกร สยามคูโบต้าจึงได้ต่อยอดความสำเร็จมายังจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดที่ 10 ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังยกระดับโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) สู่เป้าหมาย KUBOTA NET ZERO EMISSION มุ่งมั่นสร้างโลกเกษตรที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีการเร่งศึกษาทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร และโซลูชันต่างๆ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้าน นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการ KUBOTA Net Zero Emission ถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อจังหวัดหนองคาย เนื่องจากจังหวัดหนองคาย มีพื้นที่เกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือ 1,226.524 ไร่ ซึ่งในปี 2566 พบว่าจังหวัดหนองคายมีจุดความร้อนจากการเผา จำนวน 912 จุด เป็นจุดความร้อนภาคเกษตร 590 จุด และจุดความร้อนในเขตพื้นที่ป่า 322 จุด จะเห็นได้ว่าเกษตรกรยังมีการเผาตอซังข้าว และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อความสะดวกในการไป เพราะหากไม่เผาการไถกลบทำได้ยากและมีค่าจ้างสูงกว่า อีกทั้งเกษตรกรมีเครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรในการเตรียมแปลงเพาะปลูกไม่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ยังขาดความเข้าใจถึงผลกระทบจากการเผา ที่มีผลให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

...

ผู้ว่าฯ หนองคาย กล่าวด้วยว่า จังหวัดหนองคายเชื่อว่า การลงนามในครั้งนี้ จะเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Bum) การนำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาปรับใช้เพื่อการทำการเกษตรลดโลกร้อน และลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เพื่อสร้าง "หนองคาย เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission" ให้เกิดขึ้นได้จริง

...

อย่างไรก็ตาม สยามคูโบต้ายังคงมุ่งมั่นผลักดันแนวคิดเกษตรปลอดการเผาสู่การสร้าง "เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission" ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือของโครงการฯ ในปี 2566 เพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดสระแก้ว จังหวัดหนองบัวลำภู นอกจากนี้ยังมีการผลักดันองค์กรและสินค้าของคูโบต้าให้เป็นองค์กรที่มีนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหาแนวทางการแก้ไขประเด็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 พร้อมขยายผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2593 สอดรับกับเป้าหมายแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย.