กลุ่มเกษตรกรหนองไผ่แบน อุทัยธานี คิดค้นทำปุ๋ยชีวภาพใบไผ่ใช้ได้ทั้งพืชไร่และนาข้าว ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารที่อันตรายกับเกษตรกรที่ใช้และคนกิน โดยใช้วัตถุดิบหลัก คือ ใบไผ่และมูลวัวควาย ช่วยให้ได้ผลผลิตดี แถมยังส่งขายเพิ่มรายได้งดงาม

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายภิรมย์ ควรคิด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไผ่แบน จ.อุทัยธานี และสมาชิกที่เป็นเกษตรกร ได้นำเสนอผลงานการนำใบไผ่มาทำปุ๋ยชีวภาพ โดยวิธีทำนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพราะวัตถุดิบหาได้ตามบ้านเรือนของเกษตรกรที่มีอยู่แล้ว นั่นคือการนำมูลวัวหรือมูลควายมาผสมกับน้ำหมักชีวภาพและหัวเชื้อหรือน้ำตาลโมลาส แล้วก็ทำการคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นก็นำผ้าใบมาคลุมเพื่อให้เกิดการทำงานของจุลินทรีย์ เกิดการทำงานหมักขึ้นเองระหว่างมูลวัวและมูลควาย จากนั้นก็นำใบไผ่แห้งนำมาผสม โดยใบไผ่นั้นหาได้ง่ายในหมู่บ้านหนองไผ่แบนแห่งนี้ เพราะได้ทำการปลูกไผ่ไว้ใช้กันเยอะนั่นเอง

ส่วนเกษตรกรที่อยากทดลองทำตามก็ไม่ได้ยาก เนื่องจากทั่วภูมิภาคของประเทศไทยนั้นรู้จักและมีไม้ไผ่กันอยู่แล้ว โดยวิธีการสำคัญของการทำหัวเชื้ออีเอ็ม หรือน้ำหมัก คือ นำใบไผ่แห้งจำนวน 1 ปีบ มาผสมกับแกลบ 1 ปีบ จากนั้นก็ทำการผสมหรือคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นก็นำลงถังพลาสติก แล้วนำตาข่ายมาใส่ส่วนผสมใบไผ่กับแกลบลงไป จากนั้นก็เตรียมถังใส่น้ำให้เต็ม จากนั้นก็ใส่กากน้ำตาลโมลาสลงไปเพื่อเป็นเชื้อหมักชีวภาพ โดยใส่ลงไปจำนวน 5 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากที่หมักหัวเชื้อในถังเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาใส่ในมูลวัวมูลควายให้เข้ากัน ก็จะได้ปุ๋ยชีวภาพใบไผ่

...

ปุ๋ยที่ได้จะนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรหนองไผ่แบน โดยมีทั้งแบบบรรจุถุงขายและเป็นปุ๋ยอัดเม็ด เพื่อความสะดวกในการใช้งานนั่นเอง โดยราคาขายปุ๋ยลูกเล็กอยู่ที่ราคา 150 บาท ส่วนลูกใหญ่ก็ขายในราคา 300 บาท ส่วนน้ำหมักหรือหัวเชื้อนั้นขายในราคาลิตรละ 30 บาท ซึ่งในตอนนี้ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรตำบลหนองไผ่แบนเอง นำไปใส่ในนาข้าวหรือในไร่ได้ผลเป็นอย่างดีเยี่ยม แถมในตอนนี้เกษตรกรที่รู้ว่าปุ๋ยดังกล่าวนั้นมีคนใช้แล้วได้ผลอย่างดี ก็เริ่มมาสั่งไปใช้กันอีกด้วย

นายภิรมย์ เปิดเผยว่า พื้นที่ของตำบลหนองไผ่แบน เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไผ่ และมีการเลี้ยงควายงามเป็นสัตว์เศรษฐกิจชื่อดังของจังหวัดอุทัยธานีอยู่แล้ว แถมยังมีควายหรือกระบือที่ผ่านการประกวดค่าตัวแต่ละตัวระดับ 1 ล้านบาทขึ้นไป จึงได้ไปขอมูลควายและวัวจากฟาร์มเหล่านั้น แล้วนำมาประยุกต์และผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เอง โดยการหมักใบไผ่จนย่อยสลายด้วยส่วนผสมจากธรรมชาติ จนเกิดเป็นน้ำชีวภาพเพื่อการเกษตร

สมาชิก อบต.หนองไผ่แบน กล่าวต่อว่า หลังจากเริ่มทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพเอง และใช้แหล่งท่องเที่ยว เช่น ที่อาณาจักรบ้อง แหล่งท่องเที่ยวชุมชนของตำบลหนองไผ่แบน เมื่อได้ผลผลิตที่ดีแล้วจึงเกิดการบอกต่อ และปัจจุบันสามารถจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นำมาวางจำหน่ายที่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงว่างจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตอีกด้วย โดยในตอนนี้เพิ่มและขยายไปยังตำบลอื่นอีกด้วย

...

สำหรับในอนาคต จะเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรจากชุมชน เพื่อหวังจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการทำทั้งไร่นา แถมยังผลิตปุ๋ยใช้เอง โดยผู้ที่สนใจนั้นสามารถโทรสอบถามเพื่อไปดูงานการทำปุ๋ย ซึ่งทางกลุ่มเกษตรหนองไผ่แบนนั้นไม่หวงวิธีการทำ แถมยังสอนให้อีกด้วย หรืออยากลองซื้อไปใช้ก็สามารถติดต่อได้ที่ คุณภิรมย์ ควรคิด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไผ่แบน เบอร์โทรศัพท์ 061-3815659, 098-2700429.