กลุ่มเซ็นทรัล พร้อมผลักดันอาชีพผ่านโครงการ OUR Khung BangKachao ด้วยน้ำตาลธรรมชาติของต้นจากบางกะเจ้า สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน
นายสุกิจ พลับจ่าง ประธานวิสาหกิจต้นจากบางกะเจ้า ต.บางกระสอบ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำน้ำตาลจาก เกิดจากการที่คนกลุ่มเล็กๆ ต้องการอนุรักษ์หิ่งห้อยเพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยเรียนรู้กระบวนการแปรรูปน้ำตาลจาก จากชุมชนตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปลายปี 2565
สำหรับขั้นตอนการแปรรูปน้ำตาลจากนั้นมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ต้องเลือก ต้นจาก ที่มีอายุมากพอ ประมาณ 5-7 ปีขึ้นไป จึงจะได้น้ำตาลที่มีคุณภาพและปริมาณน้ำตาลที่ดี การเลือก โหม่งจาก เพื่อเก็บน้ำตาลก็ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ในการสังเกตลักษณะของต้น โดยกระบวนการเก็บน้ำหวานจากต้นจากเพื่อมาแปรรูปเป็นน้ำตาลนั้น มี 7 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 การเลือกโหม่งจาก : โหม่งจาก คือ ผลของต้นจากที่ออกเป็นกระจุก เราต้องเริ่มด้วยการเลือกโหม่งที่ดีจากต้นจากที่มีอายุ 5-7 ปี โดยโหม่งที่เลือกจะอยู่ในระยะพร้อมใช้งานในอีกประมาณ 20 วันข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำหวานจะมีรสชาติและปริมาณเหมาะสม
...
ขั้นที่ 2 ลอก – กาบ - งวง : ลอกเปลือกกาบงวงออก เพื่อให้ส่วนงวงที่จะใช้รองน้ำหวานได้สัมผัสกับแสงแดดเต็มที่ แสงแดดจะช่วยให้ส่วนงวงแข็งแรงและทนทานต่อสภาพอากาศในระยะเวลาที่ยาวนานจนกว่าจะเก็บน้ำหวานครบถ้วน
ขั้นที่ 3 ทุบ – บิดโหม่ง - โยกงวง : ใช้ไม้ตีตาลทุบงวงวันละประมาณ 100 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำหวาน โดยทำสลับวันเว้นวันเป็นเวลา 20 วัน การทุบนี้จะช่วยให้น้ำหวานถูกดึงขึ้นมาสะสมที่ปลายงวงได้มากขึ้น พร้อมกับบิดและโยกงวงเพื่อให้ท่อในงวงขยาย ทำให้น้ำหวานไหลออกมาได้สะดวก
ขั้นที่ 4 บากคอ - งวง : ใช้มีดบากที่บริเวณคองวงให้เป็นร่องเล็กๆ เพื่อทดสอบดูการซึมของน้ำตาล หากเริ่มมีน้ำตาลไหลออกมา แสดงว่างวงพร้อมใช้งาน เข้าสู่ขั้นตอนถัดไป คือการตัดโหม่งได้ แต่หากยังไม่เห็นการไหลของน้ำตาล ก็ทุบงวงต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพร้อม
ขั้นที่ 5 ตัดโหม่ง ป้ายรอยตัดด้วยดินโคลน : เมื่อถึงระยะที่พร้อมเก็บน้ำหวาน จะทำการตัดโหม่งออก เมื่อตัดโหม่งเสร็จแล้ว ให้ใช้ดินโคลนป้ายบริเวณรอยตัด จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง ดินโคลนจะช่วยป้องกันไม่ให้รอยตัดแห้งและเตรียมพร้อมให้รสหวานที่ถูกเก็บสะสมอยู่ในงวงไหลได้ดีขึ้น
ขั้นที่ 6 การปาดงวง - สวมยางนำร่อง : ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าทับปาดตาล เพื่อปาดงวงออกเล็กน้อย แล้วใส่ยางนำร่อง ตรงส่วนที่ปาดเพื่อลำเลียงน้ำหวานให้ไหลลงสู่กระบอกรองน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ
ขั้นที่ 7 การเก็บเกี่ยวน้ำหวานต้นจาก : วางกระบอกไม้ไผ่หรือขวดพลาสติกไว้ใต้รอยปาด โดยใส่เศษ ไม้เคี่ยม-ไม้พยอม ไว้ในกระบอกเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหวานบูดหรือเสียระหว่างเก็บน้ำ เมื่อน้ำหวานถูกเก็บเต็มกระบอกแล้ว จึงนำไปกรอง และเคี่ยวด้วยไฟแรงจนกลายเป็นน้ำตาลเข้มข้นที่พร้อมใช้งาน
...
สุกิจ กล่าวอีกว่า วิสาหกิจวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยใช้น้ำตาลจาก สร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิก การผลิตน้ำตาลจาก ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างรายได้ แต่ยังเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศในบางกะเจ้า ต้นจากถือเป็นพันธุ์ไม้สำคัญที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ ทำให้หิ่งห้อยและสิ่งมีชีวิตต่างๆ กลับมามีที่อยู่อาศัยอีกครั้ง นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนต้นจากบางกะเจ้า ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการต้นจาก และช่วยให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในชุมชนมากขึ้น
ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะคณะทำงานด้านส่งเสริมอาชีพ โครงการ OUR Khung BangKachao ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา และสนับสนุนงบประมาณด้านต่างๆ อาทิ อุปกรณ์เคี่ยวน้ำตาลจาก การออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงช่องทางจัดจำหน่ายแบบขวดขนาด 180 มล. ที่ร้าน Good Goods และยังนำ ไซรัปน้ำตาลจากบางกะเจ้าไปเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มกาแฟในร้าน Good Goods
โดยใช้ชื่อเมนูหอมนวล พร้อมจัดทำสื่อสนับสนุนเพื่อโปรโมทที่มาของสินค้า และรายละเอียดชุมชน ซึ่ง กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้ามาดูแล ช่วยสร้างการรับรู้และช่องทางขาย ทำให้น้ำตาลจากเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น วิสาหกิจเองก็ได้ประสานกับร้านค้า คาเฟ่ ร้านอาหารในบางกะเจ้า
...
ทั้งนี้เพื่อเป็นช่องทางขาย และเป็นกระบอกเสียงให้กับนักท่องเที่ยวรับรู้ถึงการอนุรักษ์ต้นจาก ซึ่งตอนนี้จากการสำรวจพบว่าน่าจะมีต้นจากมากถึงประมาณ 500 ไร่ ทางกลุ่มเองก็ได้รับความสนใจ มีคนใหม่ๆ สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามพื้นที่บางกะเจ้า เป็นแหล่งโอโซนที่ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิต ปอดของสมุทรปราการแห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์จากการร่วมอนุรักษ์ของคนและชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะต้นจาก และ ต้นลำพู ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและหิ่งห้อยอีกด้วย
...