องค์การสะพานปลา สำนักงานเขตสาทร และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน “ย่านสร้างสรรค์ ย่านสะพานปลากรุงเทพ” เพื่อส่งเสริมให้เป็นย่านที่มีอัตลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน มีอาหารทะเลสดๆ ขาย รวมทั้งฟรีดนตรีทุกคืน ที่ลานริมน้ำ ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-3 ส.ค. 67
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 30 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา นายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ร่วมจัดงาน “ย่านสร้างสรรค์ ย่านสะพานปลากรุงเทพ” โดยมีนายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานย่านสร้างสรรค์ ย่านสะพานปลา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขต ผู้บริหารองค์การสะพานปลา ภาคีเครือข่าย และคณะกรรมการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ร่วมในงาน ณ ลานริมน้ำ ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-3 ส.ค. 67 ภายในงานมีอาหารแลสดๆ อาหารทะเลแปรรูป กิจกรรมอีกมากมายรวมไปถึงดนตรีฟรีทุกค่ำคืน อาทิ โบว์ ซุปเปอร์วาเลนไทน์ วาไรตี้แบนต์ เจน ซุปเปอร์วาเลนไทน์ และศาล สานศิลป์ เพื่อพัฒนาส่งเสริม ให้เป็นย่านที่มีอัตลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
...
นายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา กล่าวว่า ในอดีตก่อนจะเป็นองค์การสะพานปลา (อสป.) เดิมการขนถ่ายและจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำเค็ม ของจังหวัดพระนคร หรือ กรุงเทพมหานคร มีศูนย์รวมอยู่ที่ถนนทรงวาด อำเภอสัมพันธวงศ์ และการจำหน่ายสัตว์น้ำจืดมีศูนย์รวมอยู่ที่หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม โดยสถานที่ทั้งสองแห่งมีความคับแคบทำให้การดำเนินธุรกิจไม่สะดวกเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นผู้ดูแล ในตอนนั้นได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาล เมื่อรัฐบาลรับหลักการและเห็นชอบให้ดำเนินการ กรมประมงจึงได้เริ่มการก่อสร้างสะพานปลาของรัฐขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ. 2492 ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2496 องค์การสะพานปลา จึงได้ถือกำเนิดตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา
ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา กล่าวต่อว่า เพื่อย้อนรอยองค์การสะพานปลาสู่อนาคตจึงได้นำเสนอโครงการ “ย้อนรอยสะพานปลา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต” ซึ่งเป็นการผสมผสานวิถีของการสนับสนุนอุตสาหกรรม ประมงต้นน้ำของประเทศไทย ตั้งแต่อดีตกับการพัฒนาในปัจจุบันที่อาศัยแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ภารกิจขององค์การสะพานปลาสามารถตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอุตสาหกรรมการประมง ตั้งแต่ชาวประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา และผู้ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประมง ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สามารถพัฒนาศักยภาพและนำมาซึ่งการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำ สู่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป รวมถึงการพัฒนาตลาดปลาเชิงท่องเที่ยวของไทยในอนาคต
นายปรีดา กล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และคณะกรรมการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (เขตสาทร) อาทิ สำนักงานเขตสาทร องค์การสะพานปลา มหาวิทยาลัย สถานศึกษา ชุมชนในพื้นที่เขตสาทร และบริษัท โคตรทะเล ซีฟู้ด สุขุมวิท จำกัด ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาย่านสร้างสรรค์และ “ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่าน ทั่วกรุงเทพฯ” โดยแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่
...
ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา กล่าวด้วยว่า สำหรับย่านสะพานปลา เขตสาทร เป็นสะพานปลาของรัฐและตลาดปลากลางเมืองหลวง แห่งแรกของประเทศไทย เป็นตลาดสินค้าสัตว์น้ำ 24 ชั่วโมง จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำทะเลและน้ำจืด ตลอดจนจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป โดยถือเป็นการพัฒนาและสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบกิจการ ชุมชน และเขตสาทร ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตลาดปลาของประเทศไทย ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักดังเช่นตลาดปลาของต่างประเทศได้.