จ.พะเยา เปิดโครงการผลักดันไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง (พะเยาโมเดล) ภายใต้แนวคิด ไหมเหลืองภาคเหนือ ทางเลือกใหม่ รายได้ดี มีตลาดนำ หนุนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไปสู่การทำเป็นอาชีพหลัก

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาคารอเนกประสงค์บ้านภูเงิน ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา นายพิชัย เชื้องาม ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 1 ร่วมกับ ว่าที่ร้อยตรีกรกฎ ประเสริฐวงษ์ ปลัดจังหวัดพะเยา ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้บริหารบริษัท จุลไหมไทย จำกัด ประธานกลุ่มผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และพี่น้องเกษตรกรบ้านภูเงิน-โพธิ์ทอง เปิดงานโครงการผลักดันไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง (พะเยาโมเดล) ภายใต้แนวคิด ไหมเหลืองภาคเหนือ ทางเลือกใหม่ รายได้ดี มีตลาดนำ

...

การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มการเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม และได้ขยายผลสู่การทำข้อตกลงซื้อขายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันซึ่งเป็นการบูรณาการ การทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงด้านตลาด ยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร

สถานการณ์การผลิตเส้นไหมของตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เส้นไหมซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในทอผ้าและอุตสาหกรรมต่างๆ มีราคาสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ของพี่น้องเกษตรกร ปัจจุบันพื้นที่ภาคเหนือมีเกษตรกรเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมรังเหลืองกระจายอยู่ในจังหวัดพะเยา น่าน เชียงราย เชียงใหม่ และแพร่ ประมาณ 300 ราย มีผลผลิตรังไหมเฉลี่ย 59.40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11.28 ล้านบาทต่อปี

...

สำหรับ จังหวัดพะเยา เริ่มมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากการเลี้ยงไหมหัตถกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นคนอีสานที่อพยพมาอาศัยอยู่ในจังหวัดพะเยา และได้นำเอาวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาด้วย จากนั้นได้พัฒนามาสู่การเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง ซึ่งทางบริษัทเอกชนได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องตลาดรับซื้อรังไหม จะเห็นได้ว่าอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสามารถที่จะส่งเสริมให้เป็นอาชีพหลักได้.

...