สศก.เผยปี 2567 นี้ ลิ้นจี่ให้ผลผลิตลดลง เหลือ 1.7 หมื่นตัน เพราะเกษตรกรหันไปปลูกยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทุเรียน อีกทั้งการติดดอกลดลงจากสภาพอากาศ โดยช่วง มิ.ย.จะมีผลผลิตออกตลาด รวมกว่า 8,374 ตัน

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ลิ้นจี่ปี 2567 โดยข้อมูลพยากรณ์ปริมาณการผลิตลิ้นจี่ ปี 2567 จากที่ประชุมคณะกรรมการสารสนเทศการเกษตร ครั้งที่ 7/2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2567) คาดว่า การผลิตลิ้นจี่รวมทั้งประเทศปีนี้ มีเนื้อที่ให้ผล 85,260 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีเนื้อที่ 87,695 ไร่ (ลดลง 2,435 ไร่ หรือร้อยละ 2.78) ให้ผลผลิต 17,045 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 40,836 ตัน (ลดลง 23,791 ตัน หรือร้อยละ 58.26) ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 200 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 466 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลง 266 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 57.08)

สำหรับเนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตในภาคเหนือ เกษตรกรโค่นต้นลิ้นจี่ เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผลอื่น เช่น ทุเรียน และแหล่งผลิต ในภาคกลาง เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนลิ้นจี่เพื่อปลูกทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม และส้มโอ ซึ่งผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าลดลง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาผลตอบแทนไม่จูงใจ เกษตรกรจึงไม่ดูแลรักษา ประกอบกับช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567 สภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากลิ้นจี่ต้องใช้อุณหภูมิต่ำประมาณ 15 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ จึงจะมีการแทงช่อดอก ลิ้นจี่ในปีนี้จึงออกดอกช้ากว่าปีที่แล้ว บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศจึงลดลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสถานการณ์ในแต่ละภาคจะพบว่า 

...

ภาคเหนือ เนื้อที่ให้ผลรวม 76,052 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 3.10 ผลผลิต 14,577 ตัน ลดลงร้อยละ 57.07 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลิ้นจี่เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น และหลายปีที่ผ่านมาผลตอบแทนลิ้นจี่ไม่จูงใจและเป็นพืชที่ดูแลยาก ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง ทำให้ลิ้นจี่ในปีนี้ออกดอกช้ากว่าปีที่แล้ว อีกทั้งต้นลิ้นจี่บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่ให้ผล 3,188 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.37 ผลผลิต 1,874 ตัน ลดลงร้อยละ 4.92 เนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากจังหวัดนครพนม ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ มีต้นลิ้นจี่ที่ปลูกใหม่ในปี 2564 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้เป็นปีแรก แต่เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง สลับกับมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ลิ้นจี่ออกดอกล่าช้า และไม่ติดผล ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

ภาคกลาง เนื้อที่ให้ผล 6,020 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 1.68 ผลผลิต 594 ตัน ลดลงร้อยละ 87.91 โดยเนื้อที่ให้ผลคาดว่าลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนลิ้นจี่เพื่อปลูกทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม และส้มโอ และจากสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง ทำให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้นลิ้นจี่ไม่สามารถออกดอกและติดผลได้ ผลผลิตจึงลดลงด้วย

ภาพรวมของผลผลิตลิ้นจี่ ปีนี้ลดลง โดยผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนกรกฎาคม 2567 โดยผลผลิตออกมากสุดในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้ จะออกประมาณ 8,387 ตัน ทั้งนี้ สศก. จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างต่อเนื่องต่อไปและจะรายงานผลพยากรณ์รอบต่อไปให้ทราบเป็นระยะต่อไป โดยข้อมูลพยากรณ์ จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการไม้ผลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป.