ฝนตกใน จ.บึงกาฬ ที่มีมาต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางพารา โดยแม้ราคาพุ่งในรอบ 10 ปี แต่เมื่อฝนตกทำให้ชาวสวนออกไปกรีดยางต้องทิ้งการกรีด เพราะน้ำฝนทำให้น้ำยางเสียหาย พร้อมฝากรัฐบาลคุมราคาปุ๋ยเคมี ขณะที่ ปภ.ก็เตือนอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 5 มิ.ย. 2567 ผลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยตอนบน และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะจังหวัดบึงกาฬมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในประจำวัน โดยเฉพาะเด็กๆ นักเรียนที่จำเป็นต้องได้พกร่มติดตัวมาโรงเรียน รวมไปถึงเสื้อกันฝน บางส่วนต้องสวมใส่เสื้อผ้ากันหนาว เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนอุณหภูมิลดลง บางส่วนต้องตากฝนเดินเข้าโรงเรียน
...
ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬที่ปลูกยางกว่า 1 ล้านไร่ และเปิดกรีดแล้วกว่า 8 แสนไร่ ต้องได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน โดยไม่สามารถกรีดยางพาราได้ ต้องอาศัยช่วงเวลาที่ฝนหยุดตกออกมากรีด ทำให้รายได้ลดลงในช่วงฤดูฝนนี้ กลับกันราคายางพารากลับดีดตัวพุ่งสูงขึ้นในรอบ 10 ปี โดยราคาขายยางพาราก้อนถ้วย ในพื้นที่บ้านห้วยก้านเหลือง ต.ปากคาด อ.ปากคาด วานนี้ (4 มิ.ย.) อยู่ที่กิโลกรัมละ 40.00 บาท
นายชวน ปัดสำราญ เกษตรกรชาวสวนยางบ้านนาแสงสาคร ต.นาแสง อ.ศรีวิไล กล่าวว่า การกรีดยางหน้าฝน ต้นยางถ้าฝนตกจะทำให้ต้นยางเปียก เวลากรีดจะทำให้น้ำยางไหลซึมข้างลำต้น และอาจจะไม่ลงร่องลิ้นยาง จะทำให้ไม่ได้ผลผลิต หรือได้น้อยมาก บางครั้งกำลังกรีดอยู่ดีๆ ฝนตกกะทันหัน เราต้องทิ้งการกรีดเพื่อที่จะมาหยอดน้ำกรดให้ทัน ก่อนที่น้ำจะไหลลงลำต้นแล้วไหลลงถ้วยใส่น้ำยาง จะทำให้น้ำยางเกิดการเสียหาย เท่ากับว่าการกรีดยางในวันนั้นเสียเปล่า
เกษตรกรชาวสวนยางบ้านนาแสงสาคร กล่าวต่อว่า ส่วนราคาที่ขยับขึ้นนั้นจะเป็นปกติในช่วงนี้ พอฝนตกเกษตรกรใส่ปุ๋ยพอน้ำยางออกมาราคาก็ขยับลง แต่ปีนี้ไม่รู้จะเป็นเหมือนทุกปีหรือเปล่า แต่ถ้ารักษาคงสภาพราคาไว้ที่ 35-40 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรก็อยู่ได้ และก็ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ด้วย ฝากไปถึงรัฐบาลอยากให้ดูราคาปุ๋ยเคมีอยากให้ลดลง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญ
...
ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 4-11 มิถุนายน 2567 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬมี อ.บุ่งคล้า อ.โซ่พิสัย อ.เซกา และ อ.บึงโขงหลง ขอให้จังหวัดติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบล่วงหน้า.