ที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก นอกจากต้นหมากแล้ว ช่วงนี้ทุเรียนพื้นบ้านและทุเรียนหมอนทองตามสวนก็ออกผลผลิตแล้ว โดยคนติดต่อซื้อผ่านทางออนไลน์ ทำให้เกษตรกรเริ่มได้ราคาดี มีเท่าไรขายหมดทุกวัน โดยมีพ่อค้ามาเหมาส่งไปจีนด้วยราคา กก.ละ 40 บาท ขายส่ง กก.ละ 35 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ทุเรียนพื้นบ้านเปิ่งเคลิ่งออกแล้ว เดือนมิถุนายนนี้ออกทั้งเดือน มีจำหน่ายทุกวัน ทุเรียนบ้านเปิ่งเคลิ่ง พัฒนาจากขายเป็นกองๆ ยกระดับขายในโลกโซเชียลออนไลน์ และขายเป็นกิโล มีเท่าไร ขายหมดทุกวัน ทุเรียนพื้นบ้านนี้ วิธีเก็บต้องรอให้ทุเรียนหล่นจากต้น และชาวบ้านนำมาขายให้พ่อค้าในหมู่บ้านรวบรวมและส่งต่อ

เมื่อสอบถามกับ เจ๊พร ชาวบ้านเปิ่งเคลิ่ง ต.แม่ฉัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ตนเองรับซื้อและขายทุเรียนพื้นเมืองบ้านเปิ่งเคลิ่ง และบางส่วนปลูกไว้ขายเองบ้าง สมัยแรกๆ เมื่อหลายปีที่แล้วขายเป็นกอง ลูกใหญ่กองละ 4 ลูก ราคา 200 บาท ย่อมลงมากองละ 5 ลูก ก็ราคา 200 บาท ขายยากมากกว่าจะหมด แต่มาในปีนี้มีพ่อค้าสั่งในโลกโซเชียลออนไลน์ เพราะที่นี่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสัญญาณโทรศัพท์แล้ว ยอดสั่งจอง ผลผลิตออกไม่ทัน ตนเองรับซื้อจากชาวบ้านแล้วขายต่อ โดยในปีนี้ขายส่งในราคากิโลละ 35 บาท มีพ่อค้ามารับถึงบ้าน นอกจากมีทุเรียนแล้วยังแปรรูปผลิตภัณฑ์ทุเรียนกวนอีกด้วย ขายในราคาทุเรียนกวนกิโลละ 500 บาท ราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท 

...

ด้านนายมาโนช โพธิ์เนียม นายอำเภออุ้มผาง กล่าวว่า มาเยี่ยมเยียนชาวบ้านวันนี้มาชมทุเรียน ทุเรียนที่นี่มีรสชาติดี ทำให้ขายดีมาก จากการสอบถามพ่อค้าในพื้นที่ขายปลีก กก.ละ 40 บาท ขายส่งราคากิโลกรัมละ 35 บาท และยังมีทุเรียนกวนอีก เป็นการถนอมอาหาร แปรรูปผลิตภัณฑ์ หลายปีผ่านมาอาจจะขายไม่ค่อยได้ แต่มาในปีนี้ สัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตใช้ได้ดี การสื่อสารค่อนข้างดี และชาวบ้านนอกจากขายตรงแล้วยังขายในโลกโซเชียลออนไลน์ ทันสมัยยิ่งขึ้น เกษตรกรและพ่อค้าซื้อขายในโลกโซเชียลโดยตรง ทำให้ยอดการขายทะลุเป้า ขายดีมาก 

ทั้งนี้แม้ บ้านเปิ่งเคลิ่ง จะเป็นชุมชนพื้นที่ห่างไกลจากตัวจังหวัดตากกว่า 300 กิโลเมตร รวมทั้งห่างไกลจากตัวอำเภออุ้มผางเกือบ 90 กิโลเมตร แต่ระยะทางไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะทุเรียนบ้านเปิ่งเคลิ่งเป็นที่นิยม และรู้จักกันไปทั่วประเทศ นอกจากทุเรียนพื้นบ้านแล้วที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังมี ทุเรียนหมอนทอง ซึ่งชาวบ้านนำมาปลูกว่า 2-3 ร้อยไร่ ขายส่งออกโดยมีพ่อค้ามาซื้อเหมาสวนส่งออกไปประเทศจีน.