ส.ป.ก.เชียงราย ร่วมกับ สหกรณ์ และปศุสัตว์จังหวัด จัดอบรมการ "เลี้ยงผึ้งโพรง" เพื่อสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้ได้มาตรฐานฟาร์ม GAP โดยลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษา พร้อมรับอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งไปรายละ 1 ชุด เพื่อต่อยอดสร้างรายได้

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ร่วมบูรณาการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินเวียงชัย จำกัด และสมาชิกในพื้นที่ คทช. อ.เวียงชัย จ.เชียงราย โดยขานรับนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หลังลงพื้นที่ตรวจราชการมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรกรในพื้นที่ คทช. ของนายคำจันทร์ วงศ์กองแก้ว อำเภอเวียงชัย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ในแนวทางนำประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และลงมือทำร่วมกัน จนเกิดโครงการอบรมการเลี้ยงผึ้งโพรง ตามมาตรฐานฟาร์มและ GAP ขึ้นมา เพื่อให้สอดรับนโยบายส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมั่นคงและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ป้องกันและแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในระยะยาวได้

...

สำหรับการจัดอบรมดังกล่าว มีทั้งภาคทฤษฎีว่าด้วยการบริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ มาตรฐานฟาร์มผึ้ง และฟาร์มผึ้งมาตรฐาน GAP ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินเวียงชัย จำกัด มีกลุ่มผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ และในภาคบ่ายมีการลงพื้นที่ "สวนคุณหนึ่งฟาร์ม" บ้านดงมะตื๋นใหม่ ม.15 ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นฟาร์มผึ้งที่ผ่านมาตรฐาน GAP เพื่อศึกษาการเลี้ยงผึ้งจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเกษตรกรที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะได้รับมอบอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้ง เพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้ จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย (สปก.) จำนวนคนละ 1 ชุด และหากสมาชิกรายต้องการต่อยอดในการรวมกลุ่มประกอบอาชีพเลี้ยงผึ้ง ทางสหกรณ์ก็มีเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% ต่อปี ไว้บริการให้กับสมาชิก

นายบุญทา รักบ้าน อายุ 65 ปี รองประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินเวียงชัย จำกัด กล่าวว่า เริ่มจากการเข้ามาแนะนำส่งเสริมของ น.ส.นงนุช พุทธเคน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 6 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย แนะนำให้สหกรณ์แก้ไขปัญหาหนี้ให้กับสมาชิก พร้อมกับให้ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิก เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สหกรณ์จึงได้จัดอบรมแก้ไขปัญหาหนี้เพื่อช่วยเหลือสมาชิกไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 โดยได้รับความสนใจจากสมาชิกเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นสหกรณ์ได้สำรวจความต้องการพัฒนาอาชีพของสมาชิก จนมาเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง

...

รองประธานกรรมการ สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินเวียงชัย กล่าวต่อว่า แต่ด้วยงบศึกษาอบรมของสหกรณ์มีน้อย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จึงได้เข้าหารือแนวทางพัฒนาสหกรณ์ร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย โดยมีนายชำนาญ บุญประเสริฐ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย เป็นผู้รับประสานงานด้านงบประมาณ ในส่วนด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานฟาร์มได้ความร่วมมือจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย อีกทั้งสหกรณ์ยังได้นายสมภพ ปาเมืองมูล ซึ่งเป็นลูกหลานของหนึ่งในหนึ่งในสมาชิก ถือเป็นเกษตรกรที่เป็นปราชญ์ด้านการเลี้ยงผึ้ง มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิกคนอื่น ที่มีความสนใจเลี้ยงผึ้ง เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัวให้มั่นคง ในส่วนของสหกรณ์ก็ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลสมาชิกให้อยู่ดีกินดี ภายใต้การช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันสืบต่อไป

...

ด้าน นายสมภพ ปาเมืองมูล อายุ 38 ปี เจ้าของ "คุณหนึ่งฟาร์ม" กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งที่ผ่านมาตรฐาน GAP ของกระทรวงฯเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการทำสวนลำไย จึงได้สนใจที่จะเลี้ยงผึ้ง เพื่อให้ผึ้งมาช่วยในการผสมเกสรดอกลำไย และขายน้ำผึ้งสร้างรายได้เสริม แต่ช่วงแรกเป็นการเลี้ยงแบบลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จากที่ในปีแรกผึ้งไม่เข้ารังเลย มาปีที่ 2 จากรังผึ้ง 10 รัง มีผึ้งเข้ามาทำรังเพียงแค่รังเดียว แต่ก็ไม่ยอมแพ้ หาช่องทางศึกษาหาความรู้มาโดยตลอด โดยเริ่มต้นด้วยการไปศึกษาดูงานจากฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ และไปเข้ารับการอบรมที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้จัดขึ้น เช่น ที่ จ.จันทบุรี และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการจัดอบรมที่ไม่มีค่าใช้จ่าย จะมีเพียงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเข้ารับการอบรม และได้นำมาปรับใช้ในฟาร์มของตนเอง จนปัจจุบันมีรังผึ้งมากกว่า 200 รัง และเป็นฟาร์มผึ้งฟาร์มแรกที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน GAP ของกระทรวงฯเกษตรและสหกรณ์

...

"ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ และต้องการสินค้ามาตรฐานสูง ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และฟาร์มผึ้งตนก็เป็นฟาร์มแรกที่ผ่านมาตรฐาน GAP ทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากฟาร์มของตนจึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ซึ่งตนเห็นว่ากลุ่มลูกค้าตลาดบนแบบนี้ยังมีพื้นที่สำหรับเกษตรกรอีกเยอะ แต่ตัวเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบควบคุมคุณภาพ รักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และต้องรู้จักพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ" เจ้าของฟาร์มผึ้ง "คุณหนึ่งฟาร์ม กล่าว

ส่วน นายคำจันทร์ วงค์กองแก้ว อายุ 70 และนางคำมูล วงค์กองแก้ว อายุ 63 ปี ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการเลี้ยงผึ้งอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นการเลี้ยงแบบชาวบ้าน ไม่ได้มีความรู้มาก่อน แต่พอเห็นว่าทางสหกรณ์มีการจัดอบรมเลี้ยงผึ้งโพรงขึ้นมา ส่วนตัวก็เห็นว่ามีประโยชน์ จะได้มาศึกษากับผู้ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อจะได้นำไปต่อยอดปรับใช้กับผึ้งที่เลี้ยงอยู่ได้.