กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดจุดบริการตรวจก่อนตัดฟรีที่ จ.ตราด ป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด เตรียมพร้อมสำหรับเทศกาลทุเรียนตราด ย้ำ ออกก่อนอ่อนไม่มี ใครซื้อเจอทุเรียนอ่อนแจ้งความได้ทุกโรงพัก หรือร้องศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตราดเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคตะวันออกที่มีแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย โดยในปี 2567 นี้ จะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งออกล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมาจากสภาพอากาศแปรปรวนกระทบต่อการออกดอกติดผลของทุเรียน ทำให้การออกดอกติดผลไม่เต็มพื้นที่ และผลผลิตทุเรียนจะมีหลายรุ่น
สำหรับทุเรียนของจังหวัดตราดนั้น มีความพิเศษกว่าพื้นที่อื่นในภาคตะวันออก คือ ผลผลิตจะออกก่อน สาเหตุเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลอ่าวไทย ดินเป็นดินร่วนปนทราย ประกอบกับมีลมทะเลตะวันออกเฉียงเหนือ และลมทะเลตะวันตกเฉียงใต้พัดตลอดเวลา ทำให้ดินบริเวณนี้แห้งเร็วกว่าพื้นที่อื่น ส่งผลให้ทุเรียนแก่เร็วกว่าพื้นที่อื่น 10 ถึง 20 วัน
...
โดยพันธุ์กระดุม ระยะเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 80-85 วัน พันธุ์ชะนี ระยะเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 90 วัน และพันธุ์หมอนทองระยะเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 100-110 วัน นอกจากนี้ การดูแลของเกษตรกรตลอดฤดูการผลิต ตั้งแต่การเตรียมการก่อนปลูกจนถึงกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่ายที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย ใส่ใจต่อผู้บริโภค จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนของจังหวัดตราดสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนจำหน่ายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมต้อนรับการเปิดฤดูกาลทุเรียนตราด ที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ และป้องกันปัญหาจากการที่มีผู้ประกอบการและเกษตรกรบางรายที่ไม่มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ มุ่งแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบต่อผู้บริโภค นำทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) มาซื้อขายในตลาด ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการทำลายเศรษฐกิจ สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค และกระทบภาพลักษณ์ที่ดีของผลไม้จังหวัดตราด กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดคุมเข้มป้องปรามทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งในขณะนี้ทางจังหวัดได้เปิดจุดให้บริการตรวจก่อนตัด ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ก่อนการเก็บเกี่ยว สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนให้นำตัวอย่างทุเรียนมารับบริการ
สำหรับการนำตัวอย่างทุเรียนมาตรวจที่ถูกต้อง เกษตรกรต้องปฏิบัติ ดังนี้
1.เลือกเก็บตัวอย่างจากแปลงที่ใกล้จะเก็บเกี่ยว โดยเก็บตัวอย่างมาตรวจก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3 วัน และเลือกลูกที่อ่อนที่สุดในรุ่น โดยทุเรียนตัวอย่างต้องมีพู อย่างน้อย 3 พู
2.นำตัวอย่างทุเรียนที่ตัดแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง มาตรวจ ณ จุดให้บริการซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.
3.การตรวจต้องมีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนเท่ากับหรือมากกว่าเกณฑ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุม 27% น้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี 30% น้ำหนักแห้ง และพันธุ์หมอนทอง 32% น้ำหนักแห้ง เมื่อตัวอย่างทุเรียนที่นำมาตรวจผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด เจ้าหน้าที่จะออกใบรับรองการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียนสำหรับใช้แนบไปกับรถขนส่งทุเรียนไปที่ล้ง/โรงคัดบรรจุ
...
นอกจากนี้ ในส่วนของการบูรณาการร่วมกับทางจังหวัด ได้มีการจัดทำประกาศจังหวัดตราด 3 เรื่อง ได้แก่ มาตรการป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดจังหวัดตราด ปี 2567, กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ปี 2567 และการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการเก็บเกี่ยวทุเรียนคุณภาพ และใช้ข้อบังคับทางกฎหมาย หากพบผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุไว้
...
ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม กระทำการโดยเจตนาจะต้องมีความผิดระวางโทษดังนี้ ความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งนั้นเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือ สาระสำคัญ ประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากผู้บริโภค ผู้ค้า หรือประชาชน รายใดได้รับความเดือดร้อน จากการซื้อขายทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่ สถานีตำรวจในทุกพื้นที่ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 039-511008.
...