เกษตรกรที่ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี หันมาปลูกถั่วแระญี่ปุ่น เก็บขายส่งออกนอก ทำเงินให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อย่างดี ราคา กก.ละ 18 บาท ชี้เป็นพืชที่ปลูกระยะสั้นและใช้น้ำน้อย รวมทั้งสร้างงานแก่คนในพื้นที่ได้มีรายได้จาการรับจ้างคัดฝักถั่ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ผืนนาจำนวน 26 ไร่ของนางสาวเมรินย์ ธงทองศ์ อายุ 21 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ตำบลเขาผาแรด อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ขณะนี้ถึงเวลาเกี่ยวถั่วแระที่ปลูกไว้ซึ่งโตได้ที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้เคยเป็นนาข้าวหลังจากนั้นก็ปรับเปลี่ยนเป็นปลูกถั่วแระญี่ปุ่น เพราะทางนายวันชัย ชีวระ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี ในฐานะเป็นประธานกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด เข้ามาแนะนำชาวบ้านให้หันมาปลูกถั่วแระญี่ปุ่น เพราะในตอนนี้ทางตลาดยุโรปและเอเชีย มีความต้องการสูงอย่างมาก และมีตลาดส่งออกตลอดทั้งปี
...
เดิมทีนั้นก็ปลูกเพียงแค่ทดลองทำ จากนั้นมา 5 ปีก็ปลูกแบบจริงจัง เพราะราคาดีมาก ขณะนี้ กิโลกรัมละ 18 บาท ผลผลิตหนึ่งตันจะได้เงินถึง 18,000 กว่าบาท นับว่าราคาดีมากในตอนนี้ถึงเวลาเกี่ยวครั้งหนึ่งมีเงินเข้าบ้านแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยหายเหนื่อยกันเลยทีเดียว และจากถั่วที่ปลูกไว้ 26 ไร่ ได้ผลผลิตถึง 26 ตัน โดยปลูกในช่วงในเดือน พ.ย.-ม.ค. 2567 ที่มีอากาศเย็นถั่วจะดกและงาม ซึ่งนับว่าดีกว่าการทำนาซึ่งต้องรอฟ้าฝนว่าจะตกลงมาหรือเปล่า หากไม่ตกก็ทำไม่ได้ เพราะแหล่งน้ำในหมู่บ้านนั้นน้อยและระยะการทำนานั้นใช้เวลาถึงกว่า 3 เดือนเลย แต่หลังจากที่มาปลูกถั่วแระแทนนั้นดีกว่าอย่างชัดเจน เพียงแค่ 2 เดือนก็เกี่ยวได้แล้วเพราะเป็นพืชระยะสั้นแถมยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาเยอะเลยทีเดียว
หลังจากที่ถั่วแระนั้นโตเต็มที่แล้ว ทางกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสดจะนำรถมาเกี่ยวถึงที่ เพื่อเข้าโรงคัดแยกที่ศูนย์กลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด บ้านดงประดาพระ ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานีเตรียมการส่งออก ซึ่งประหยัดทั้งแรงงานจ้างคน แต่รถเกี่ยวถั่วแระก็ยังคงมีข้อเสียก็คือเวลาถึงมุมของผืนนารถจะไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวได้ก็ต้องจ้างแรงงานเป็นคนในหมู่บ้านมาถอนต้นถั่วตามมุมและมานั่งคัดเลือกเบื้องต้นก่อนแต่ข้อดีก็คือคนในหมู่บ้านนั้นจะมีรายได้เวลาเกี่ยวถั่วแระ ซึ่งก็เป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวบ้างและปลูกถั่วแระบ้างมารับจ้างเป็นแรงงานกันนั่นเอง ซึ่งก็เรียกว่าเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจมากเพราะราคาดีมีตลาดรองรับ
นายวันชัย ชีวระ ในฐานะประธานกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด กล่าวว่า ได้ทำการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกถั่วแระและเป็นวิสาหกิจชุมชนอีกด้วยและในตอนนี้การปลูกถั่วแระนั้นกำลังขยายออกไปเรื่อยเพราะตลาดมีความต้องการสูงมาก ที่โรงคัดแยกแห่งนี้จะเริ่มจากการที่เกษตรกรนั้นนำถั่วแระใส่รถบรรทุกมาหลังจากที่เกี่ยวแล้วจากนั้นก็เริ่มสู่ขบวนการคัดแยกอย่างรวดเร็ว เริ่มจากนำถั่วเทลงมาจากนั้นก็จะแยกละอองฝุ่นและดินที่ติดมากับต้นถั่วและฝักถั่วแระออกโดยผ่านการเป่าพัดลมขนาดใหญ่ ซึ่งต้นถั่วนั้นจะแยกออกมาทันที จากนั้นก็ถูกลำเลียงลงสายพานเข้าสู่การทำความสะอาด โดยใช้แรงลมปั่นออกไปเช่นกัน
...
จากนั้นก็มาถึงการคัดแยกจะมีคนนั่งเรียงกันเลือกสิ่งที่เจือปนออกมาจากฝักถั่วแระก็มีพวกกิ่งหรือก้านและใบของต้นถั่วที่ติดมาออกจากนั้นก็ทำการคัดเลือกฝักถั่วให้ได้ขนาดแล้วก็ใส่ลงในตะกร้าเพื่อที่ทำการรอการส่งออกไปตามโรงงานที่ผลิตอาหารหรือส่งแบบทั้งฝักไปตามประเทศต่างๆ โดยแหล่งที่ส่งออกมากที่สุดก็คือประเทศญี่ปุ่นและประเทศทางเอเชียและประเทศทางยุโรปก็นิยมรับประทานเช่นกันซึ่งได้ชื่อว่าถั่วแระญี่ปุ่นแต่มาปลูกในจังหวัดอุทัยธานีและส่งไปขายญี่ปุ่นอีกทีหนึ่งนั่นเอง
สำหรับที่โรงคัดแยกแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งทำงานคนในหมู่บ้าน ทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุมีทำงานที่นี่โดยไม่ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำเป็นแรงงานตามต่างจังหวัดเลย โดยจะมีคนเข้ามาทำงานวันละกว่า 50 คนเลยทีเดียว แถมยังมีข้าวเลี้ยงมื้อกลางวัน และมื้อเย็นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีถั่วแรกติดไม้ติดมือไปต้มให้ครอบครัวได้รับประทานด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คัดแยกออกมาจากฝักถั่วที่ไม่ได้ขนาดนั่นเอง ซึ่งฝักถั่วที่ไม่ได้ขนาดก็ยังมีคนรับซื้อไปต้มขายตามข้างทาง และยังมีโรงงานมารับซื้อถึงที่เพื่อไปผลิตเป็นอาหารกระป๋องสำเร็จรูปด้วย
...
โรงคัดแยกฝักถั่วนั้นในตอนนี้มีในอำเภอลานสักถึง 2 โรง เพื่อรองรับการปลูกถั่วแระของเกษตรกรและเพื่อคัดแยกให้ได้ขนาดรวมถึงโรงคัดแยกอำเภอหนองฉางแห่งนี้ ก็มีเกษตรกรจำนวนกว่า 200 คนที่รวมกลุ่มปลูกถั่วแระหากนับเป็นพื้นที่กว่า 3,000 ไร่และยังมีการปลูกจากเกษตรกรรายใหม่อีกด้วยซึ่งทางนายนายวันชัยนั้นบอกว่าบางรายนั้นสามารถใช้หนี้สินในครัวเรือนจนหมดไปแล้วตั้งแต่หันมาปลูกถั่วแระญี่ปุ่นแถมยังลืมตาอ้าปากได้เลยด้วยซ้ำเพราะรายได้งดงามเวลาเก็บเกี่ยว.