ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
ยสท.หวั่น "บุหรี่เถื่อน" เกลื่อนเมือง จากรายงานการศึกษาชี้ สร้างผลกระทบรายได้ชาวไร่ยาสูบของไทย ตัดวงจรการจ้างงาน ทำรัฐสูญรายได้ หวังรัฐบาลปราบปรามและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานของการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ ยสท.ระบุว่า ข้อมูลของอุตสาหกรรมยาสูบในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 นั้นพบว่า อัตราการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายของไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 22.3% โดยปัญหาดังกล่าวได้สร้างผลกระทบในไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนนอกจากจะต้องมีกฎหมายและบทลงโทษที่ชัดเจนแล้ว รัฐบาลไทยควรร่วมมือกับรัฐบาลอาเซียนชาติอื่นๆ ในการป้องกันตั้งแต่ต้นทางด้วย
ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของ Examining The Negative Impact of Illicit Trade on the ASEAN Community Vision 2025 ของสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (The EU-ASEAN Business Council) และพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย (TRACIT) ที่เผยแพร่ในเดือน มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ระบุว่าบุหรี่เถื่อนคืออาชญากรรมข้ามชาติ ที่มีผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงจากความนิยมบริโภคบุหรี่ราคาถูกมากขึ้น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตบุหรี่เถื่อน ส่งออกไปภายในภูมิภาค สู่ประเทศในเอเชียแปซิฟิกและตลาดโลก
...
สำหรับประเทศไทย บุหรี่จากเวียดนามและอินโดนีเซียที่ถูกระบุที่หมายปลายทางเป็นประเทศอื่นๆ เช่น คูเวต สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้ถูกจัดเป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่ง และไม่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยศุลกากรไทย ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาขายอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทยจำนวนมาก โดยรายงานฉบับนี้ยังระบุถึงสาเหตุของการแพร่ระบาดของบุหรี่เถื่อนในอาเซียนว่าเป็นผลมาจากราคาและโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่แตกต่างกันมากในภูมิภาค ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้าบุหรี่โดยไม่เสียภาษี
นอกจากนี้ ปัญหาบุหรี่เถื่อนยังไม่ได้รับการใส่ใจจากภาครัฐเท่าที่ควร ไม่มีกฎหมายที่เข้มงวด หรือลงโทษแต่เพียงการปรับ เมื่อบวกกับสภาพแวดล้อมทางภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดช่องว่างเอื้อต่อการทุจริตสร้างธุรกิจใต้ดินที่กำไรงามและความเสี่ยงต่ำ ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ทุกปี ปีละ 5% ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้อัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนแตะ 16.5% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2556 เช่นเดียวกับ มาเลเซีย ที่พบการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงขึ้นภายหลังการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ 37% ในเดือนพฤศจิกายนปี 2558 แม้การปราบปรามที่เข้มงวดของรัฐบาลจะทำให้ตัวเลขลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงมากที่ 55.3% ในปี 2566
สำหรับตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น บุหรี่หลายยี่ห้อที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเวียดนาม แม้ว่าในการส่งออกจะไม่ได้ระบุปลายทางเป็นประเทศไทย แต่กลับพบว่า มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในบางกรณีมีการระบุอย่างชัดเจนว่าปลายทางคือท่าเรือในประเทศไทยแต่กลับไม่ปรากฏว่าบุหรี่และบริษัทฯ นำเข้าเหล่านั้นได้รับอนุญาตให้นำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งหมดนี้บ่อนทำลายภาคเกษตร และการยาสูบแห่งประเทศไทย รวมทั้งรายได้ภาษีของรัฐอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ หากดูจากรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมยาสูบประเทศไทย โดย บริษัท อ็อกฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป จะพบว่าอุตสาหกรรมยาสูบมีส่วนช่วยในเรื่องเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก เพราะไทยเป็นผู้ผลิตใบยาสูบรายใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับที่ 16 ของโลก ดังนั้น มาตรการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมโดยรวมจึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านรายได้ และการจ้างงานรากหญ้า โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่มีสัดส่วนถึง 40% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนอย่างยั่งยืน ควรเริ่มจากบังคับใช้กฎหมายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนอย่างเข้มงวด จับให้ถึงต้นตอและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต แสดงให้เห็นถึงโทษของการกระทำผิด ยกปัญหาขึ้นหารือกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นทั้งต้นทางและทางผ่าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าส่งออก สินค้าข้ามพรมแดนทั้งบนบกและทางทะเล รวมถึงการปรับนโยบายด้านภาษีที่อาจสร้างความแตกต่างด้านราคาสินค้า อันเป็นเหตุจูงใจให้มีผู้ลักลอบขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเข้าสู่ตลาดในประเทศที่จำหน่ายในราคาสูงกว่า สร้างสนามการแข่งขันด้านราคาที่ไม่เป็นธรรม และควรมีคณะทำงานพิเศษเพื่อต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมายร่วมกัน รวมทั้งควบคุมการค้าในโลกออนไลน์ เพื่อไม่ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำการค้าสินค้าอย่างผิดกฎหมาย.