ชูตัวเกษตรกรตัวอย่างลำปาง ปลูกมันสำปะหลังลดต้นทุนอาหารวัว เพื่อเป็นทางเลือกในการลดต้นทุน พร้อมทั้งส่งเสริมชาวบ้านในการปลูกมันสำปะหลัง สูตรการหมักมันสำปะหลัง เพื่อชี้ทางรอดในภาวะอาหารสัตว์แพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.ลำปาง มีเกษตรกรตัวอย่างจากครูผู้เกษียณอายุราชการ ที่ค้นพบว่าตนเองถนัดเรื่องปลูกพืชและเลี้ยงโค-กระบือ ก่อนจะพบจุดเปลี่ยนชีวิตมาปลูกมันสำปะหลังเลี้ยงสัตว์แล้วประสบความสำเร็จนั่น คือ นายสมใจ คำดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโค-กระบือหล่ายดอย อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ผันตัวมาทำอาชีพเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการปลูกมันสำปะหลัง และพัฒนาคุณภาพวัวที่ได้ไถ่ชีวิตมาจากโรงเชือด ด้วยแนวคิดที่ว่าจะอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตชาวบ้านได้อย่างไร จนนำไปสู่การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ
นายสมใจ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการเลี้ยงวัวมาจากที่เกษตรกรเข้าไม่ถึงภาครัฐ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงกันได้ จึงรวมกลุ่มเพื่อเลี้ยงวัว โดยแรกเริ่มได้วัว-ควาย มาจากโครงการไถ่ชีวิตวัวมาเลี้ยง จากนั้นได้พัฒนาสายพันธุ์โดยนำวัวไถ่ชีวิตมาผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์ชั้นดี ทำให้ได้ลูกวัวที่มีคุณภาพดีและอัปเกรดให้เป็นวัวพันธุ์ดีเลี้ยงกันในกลุ่ม ศึกษาเรื่องการผสมเทียมวัว
...
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโค-กระบือหล่ายดอย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันราคาวัวตกต่ำลงมาก จากตัวละ 3-4 หมื่นบาทเหลือเพียงตัวละ 15,000-20,000 บาท ขณะที่อาหารวัวราคาสูง หากจะใช้อาหารสำเร็จทั้งหมดก็ไม่ไหว ทำให้เป็นปัญหาหลักของผู้เลี้ยง จึงหาวิธีลดต้นทุนอาหารโดยปลูกมันสำปะหลังเอง เนื่องจากเคยปลูกมันสำปะหลังมาก่อนตั้งแต่ปี 2549 ราว 135 ไร่ แต่ตอนนั้นต้นทุนสูง และตลาดรับซื้ออยู่ไกล และค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางสูง จึงหันมาเลี้ยงวัว และนำความรู้ที่ได้จากการปลูกมันสำปะหลังมาแปรรูปเป็นอาหารวัวแทน ตอนนี้ปลูกเพียง 10 ไร่ ขณะเดียวกันก็ให้องค์ความรู้กับชาวบ้านและกลุ่มวิสาหกิจเรื่องการปลูกมันสำปะหลัง ปัจจุบันขายได้ราคาดีและมีตลาดรองรับมากขึ้น
นายสมใจ กล่าวอีกว่า วิธีการแก้ปัญหา คือ การปลูกมันสำปะหลังแล้วนำมาทำเป็นอาหาร ทำได้โดยการหมักมันสำปะหลัง โดยใช้หัวมันสดที่ขุดจากไร่ของเราเอง หรือกากมันสด ซื้อมาจากโรงแป้ง ตันละ 300-500 บาท น้ำที่เหลือจากการหมักนำมาราดผสมกับหญ้าเนเปีย หรือหญ้าแพงโกลา เป็นอาหารให้วัวกิน มีโปรตีนสูง ระบบขับถ่ายดี ลดต้นทุนค่าอาหารได้เยอะมาก
"การเกษตรคือการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด และได้เห็นความตั้งใจของหน่วยงาน ที่อยากให้ประชาชนสุขภาพดีขึ้น สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลรักษา เน้นเกษตรอินทรีย์ ความรู้จากการอบรมครั้งนี้ ได้ต่อยอดความรู้ นำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ทำให้มีรายได้เพิ่ม ครอบครัวอยู่ได้และมีความสุข ส่งผลไปถึงวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ขอถือโอกาสขอบคุณไปยัง ม.ราชภัฏลำปาง และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง และจะขยายองค์ความรู้ไปสู่ชาวบ้านต่อไป" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโค-กระบือหล่ายดอย กล่าว
นายสมใจ กล่าวด้วยว่า อายุไม่ใช่ปัญหาของการเรียนรู้ และการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเข้าร่วมก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น สิ่งที่เราไม่รู้ก็มีขึ้นทุกวัน ซึ่งในการอบรม มีคำพูดหนึ่งกล่าวว่า การที่เราขายสินค้าไม่ได้เพราะเรายืนไม่ถูกที่ คำพูดนี้ทำให้กลับมาคิดว่าผลิตภัณฑ์ของเราไปขายที่ไหน เราจะต้องนำสิ่งต่างๆ มาใช้ให้หลากหลาย ให้เกิดการ ประยุกต์ ประหยัด ให้เกิดประโยชน์ ดังเช่นการนำมันสำปะหลังมาดัดแปลงเป็นอาหารวัวเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น.
...