รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ ติดตามการส่งเสริมรายได้เกษตรกรที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 ชูความสำเร็จ ส่งผลผลิตขายทั้งในและต่างประเทศ ยอดขายรวมรอบละกว่า 5 ล้าน พร้อมสั่งการใช้กองทุน ส.ป.ก. สร้างโรงคัดแยกในพื้นที่
วานนี้ (3 ธ.ค. 66) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ เพื่อรับฟังเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 35 ครัวเรือน และมีสมาชิกเครือข่าย 49 ครัวเรือน รวมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ 164 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.05 ของพื้นที่ปลูกกล้วย ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มสามารถผลิตกล้วยคุณภาพส่งจำหน่ายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ มีรายได้รวมในแต่ละรอบกว่า 5,400,000 บาท โดยสิ่งที่เกษตรกรต้องการ คือ โรงคัดแยกกล้วย เพราะปัจจุบันต้องขนผลผลิตไปที่โรงคัดแยกที่อุดรธานี ซึ่งในระหว่างการขนส่งอาจทำให้ผลผลิตเสียหายบ้าง หากได้โรงคัดแยกมาก็จะทำให้กล้วยได้ราคาที่ดีขึ้น
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเจรจากับทางคณะทูตญี่ปุ่น โดยทางญี่ปุ่นต้องการกล้วยหอมทองที่ได้มาตรฐานถึง 5,000 ตัน/ปี ซึ่งตอนนี้ทางญี่ปุ่นกำลังต้องการอย่างมาก ประกอบกับชาวบึงกาฬก็มีการปลูกกล้วยที่ได้มาตรฐานที่วิสาหกิจแห่งนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เรื่องที่ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ต้องการโรงคัดแยกนั้น ได้มีการสั่งการ ส.ป.ก. นำเรื่องเข้าคณะกรรมการชุดเล็ก เพื่อขอใช้งบกองทุน ส.ป.ก. มาดำเนินการสร้างโรงคัดแยกตามความต้องการของประชาชน
...
ด้าน นายคมสันติ์ กลางโชคชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 กล่าวว่า สำหรับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 มีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 8 ราย พื้นที่ปลูก 30 ไร่ แต่ในปัจจุบันภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการพัฒนาองค์ความรู้ และการขยายพื้นที่ปลูก จากสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ทำให้มีเกษตรกรผู้สนใจปลูกกล้วยหอมทองเพิ่มขึ้น เข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 35 ราย และมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 80 ไร่
ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสมาชิกมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ ปีแรกมีกำไร 20,000-30,000 บาท/ไร่ ส่วนปีที่ 2-3 ต้นทุนลดลง มีกำไรไร่ละ 40,000-50,000 บาท ถ้าเปรียบเทียบกับยางพาราต่อไร่ ใน 1 ปีจะให้น้ำยางที่เป็นยางก้อนถ้วยประมาณ 500-600 กิโลกรัม ถ้าคิดเป็นเงินจะได้ 10,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่งการปลูกกล้วยหอมทองจะมีส่วนต่างรายได้เยอะกว่าพอสมควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาและข้อเสนอที่พี่น้องชาวบึงกาฬเสนอต่อ รมว.เกษตรฯ ในรอบนี้ สิ่งที่ได้มีการรับไปดำเนินการ ประกอบด้วย
1. พี่น้องชาวบึงกาฬจะได้ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวในกิโลกรัมละไม่ต่ำว่า 18 บาท หรือ 18,000 บาท/ตัน
2. เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะสวนยางประมาณล้านกว่าไร่ รัฐบาลจะแปลงที่ สปก.4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่งเกษตรกรจะได้โฉนดนำไปต่อยอด เปลี่ยนมือได้ ภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ และสิ่งที่รัฐบาลจะทำอีก คือ ต้นยางบึงกาฬในล้านกว่าไร่ ไร่หนึ่งต้นยางประมาณ 70-90 ต้น รัฐบาลกำลังจะทำโฉนดต้นยาง นั่นหมายความว่า ต้นยางในที่ดินของท่าน นอกจากมีโฉนดที่ดินแล้ว ก็จะมีโฉนดต้นยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพี่น้องเกษตรกร
3. จากการที่ รมว.เกษตรฯ ได้ไปเจรจากับทูตญี่ปุ่นมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางญี่ปุ่นต้องการกล้วยหอมทองที่ได้มาตรฐานส่งไปประเทศญี่ปุ่นอีก 5000 ตัน/ปี ซึ่งตอนนี้เรากำลังขาด เราจึงจะมีการส่งเสริมเรื่องนี้ด้วย โดยได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. ให้เงินกองทุน ส.ป.ก. สร้างโรงคัดแยกกล้วยให้กับพี่น้องชาวบึงกาฬ เพิ่มมูลค่าให้พี่น้องประชาชน.
...