อดีต ผอ.โรงเรียนหลังเกษียณใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างมีความสุข ตามแนวพระราชดำริ อยู่อย่างพอเพียง ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ แบ่งปันแก่ชุมชนไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ล่าสุดปลูกผักหวานป่าจนประสบความสำเร็จ นำออกแจกจ่ายชาวบ้าน 

หากใครเดินทางไปที่บ้านโนนนิคม ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ อาจได้พบชายวัย 62 ปี ไว้หนวดเครารุงรัง ดำเนินชีวิตอยู่กินแบบเรียบง่าย หากมองเพียงผิวเผิน ทุกคนมักจะคิดว่าสติไม่สมประกอบ แต่ความจริงแล้ว คือ อดีตข้าราชการครู ตำแหน่งสุดท้ายเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนนิคม แต่หลังจากวันแรกที่เกษียณอายุราชการ กลับไม่มีโอกาสได้ใช้เงินบำนาญเลย เนื่องจากของกินของใช้ภายในบ้านมีทุกอย่างที่ต้องการ และยังเหลือเผื่อแผ่คนในชุมชนด้วย โดยไม่มีการซื้อขาย พร้อมแนะนำเทคนิคการปลูกพืชให้สามารถมีกินได้ตลอดไป ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง

...

นายอดุลย์ บุตรเรือง อายุ 62 ปี อดีตครู ข้าราชการบำนาญ เจ้าของไร่คนค้นดิน บ้านโนนนิคม กล่าวว่า ตัวเป็นลูกกำพร้าพ่อแม่ ต่อสู้ชีวิตหาเงินเรียนหนังสือด้วยตนเอง จนสอบบรรจุรับราชการครูและรับราชการครูจนเกษียนราชการ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตลอดเวลารับราชการได้ดำเนินชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาโดยตลอด ตนชอบปลูกป่าอยู่กับธรรมชาติ กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กินได้ พืชผักผลไม้ที่ปลูกไว้ไม่ได้ปลูกเพื่อขายแต่ปลูกไว้เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ไม่มีกิน สามารถแวะมาขอได้ตลอดเวลา แต่มีเงื่อนไขว่าเมื่อมาขอแบ่งไปรับประทานแล้ว บางส่วนก็ให้แบ่งไปปลูกด้วย

อดีตครู ข้าราชการบำนาญ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา สามารถนำต้นผักหวานป่ามาทำการปลูกจนประสบความสำเร็จ และสามารถขยายพันธุ์จากกิ่งตอน แจกจ่ายให้กับชาวบ้านนำไปปลูกไว้รับประทานได้ โดยไม่ต้องซื้อต้นพันธุ์จากตน เพียงแต่มีข้อตกลงว่าหากต้นพันธุ์ที่รับไปเติบโตแล้ว ขอให้ขยายพันธุ์แล้วแบ่งปันให้กับคนรอบข้างต่อไป และก่อนนำไปปลูกตนจะสอนวิธีการปลูกให้ มีเทคนิคขั้นตอนในการปลูกง่ายๆ ซึ่งตนได้ทำการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองและรับประกันทุกต้นที่รับไปปลูกสามารถเจริญเติบโตได้อย่างถาวร 

นายอดุลย์ กล่าวถึงการปลูกผักหวานป่าว่า การปลูกผักหวานป่านั้นจะต้องปลูกต้นไม้แม่นม และต้นไม้แม่เลี้ยงแซมในกระถางไปด้วยพร้อมกัน ต้นไม้แม่นมที่ดูแลต้นพันธุ์ผักหวานได้ดีที่สุด คือ ต้นตะขบ ส่วนต้นไม้แม่เลี้ยงนั้นควรเป็นไม้ยืนต้น จำพวกตะแบก, แดง, ประดู่, พะยูง, ยางนา ฯลฯ หรือต้นอะไรก็ได้ที่เป็นไม้ยืนต้น สาเหตุที่ต้องปลูกต้นไม้แม่นม และต้นไม้แม่เลี้ยง เนื่องจากผักหวานป่าไม่สามารถที่จะเจริญงอกงามได้เพียงลำพัง จะต้องอาศัยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ในการพึ่งพิง

...

อดีตครูข้าราชการบำนาญ กล่าวอีกว่า การที่นำต้นตะขบมาปลูกเป็นต้นไม้แม่นมนั้น เนื่องจากต้นตะขบระบบรากเป็นฝอยจำนวนมาก ส่งผลดีต่อดินร่วนซุยทำให้รากผักหวานสามารถชอนไชง่าย หลังต้นตะขบตายลงต้นไม้แม่เลี้ยงก็จะทำหน้าที่รับช่วงเป็นแม่เลี้ยงดูแลต้นผักหวานต่อไป จนผักหวานเติบโตและสิ่งที่ได้ตามมาคือป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมที่ดีกลับคืนมา สำหรับผู้ที่มารับต้นพันธุ์ผักหวานไปปลูกนั้น ไม่ต้องเสียเวลานำต้นไม้แม่เลี้ยงและแม่พันธุ์มาปลูก เพราะทุกกระถางตนได้ทำการปลูกแซมให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันตนมีต้นผักหวานป่าที่ปลูกไว้และมีอายุมากกว่า 2-3 ปี ที่เป็นต้นแม่พันธุ์ จำนวนกว่า 70 ต้น

...

 

ด้าน นายคมชาญ ขวัญจำเริญ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้รู้จักกับอาจารย์อดุลย์ ไม่ได้มองว่าท่านมีความผิดปกติแต่อย่างใด เข้าใจและประทับใจในฐานะที่เป็นคนที่มีจิตวิญญาณรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนความเป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรู้จักแบ่งปัน โดยเฉพาะล่าสุดอาจารย์บริจาควัวที่เลี้ยงไว้ ให้กับคนอื่นทั่วไปจำนวน 13 ตัว เพื่อนำไปเลี้ยง ส่วนในวันนี้ได้รับความรู้เรื่องการปลูกผักหวานที่ใช้วิธีการปลูกโดยการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งกว่าจะค้นพบเทคนิคการปลูก ก็ต้องอาศัยการสังเกตตลอดจนการทดลองปลูกจนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ตนยังได้รับแจกพันธุ์กลับไปปลูกที่บ้านด้วย.