เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ แปลงนาตำบลเหล่าหลวง อำเภอเกษตรวิสัย เพื่อประเมินผลผลิตข้าวนาปี ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจะออกประเมินผลผลิตข้าวนาปีในทุกตำบล เพื่อนำผลกลับไปคำนวณว่า 1 ตารางเมตรได้ผลผลิตเท่าใด
วานนี้ (15 พ.ย. 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงนาตำบลเหล่าหลวง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีประเมินผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/2567 ซึ่งข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศ และในสหภาพยุโรป ถือได้ว่าข้าวหอมมะลิจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพที่สุดในโลก
...
ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวของเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัด จะออกประเมินผลผลิตข้าวนาปีในทุกตำบล และสุ่มพื้นที่ แบ่งเป็น ข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ ซึ่งในทุกตำบลจะต้องมีการทำในพื้นที่นา 3 พื้นที่ คือ นาลุ่ม นากลาง และนาดอน ส่วนกระบวนการเก็บ จากนั้นจะเก็บเกี่ยวในแปลงนา ซึ่งจะมีบล็อก ขนาด 1X1 ตารางเมตร เก็บในพื้นที่ 3 จุด จากขอบแปลงนาเข้าไปประมาณสัก 10 - 39 ตารางเมตร จากนั้นนำข้าวที่เก็บเกี่ยวมาตี เพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง แล้วนำเมล็ดข้าวไปชั่งน้ำหนัก วัดความชื้น และไปคำนวณกลับว่าใน 1 ตารางเมตรได้ผลผลิตเท่าใด และนำความชื้นไปคูณกลับเป็น 1 ไร่
ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะ หอม ยาว ขาวนุ่ม เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งลักษณะสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงที่มีทุ่งกุลาร้องไห้ ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ดินเค็ม สภาพอากาศแห้งแล้ง แต่กลับทำให้ข้าวหอมมะลิในแหล่งนี้หลั่งสารหอบ 2AP ออกมาได้มากกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกจากแหล่งปลูกอื่นๆ ทำให้ข้าวหอมมะลิแต่ละเมล็ด ก่อเกิดจากหยาดเหงื่อแห่งความอดทน จิตใจที่มุ่งมั่นของเกษตรกร.