2 พ่อลูกผู้ต้องหาตามหมายจับคดีหมูเถื่อน 161 ตู้เข้ามอบตัวกับดีเอสไอ ด้าน อธิบดีดีเอสไอ ชี้ คนร่วมขบวนการยังมีมากกว่านี้ บางรายเป็นทั้งนายทุนและชิปปิ้งด้วย กำลังขยายผลหาตัว จนท.รัฐที่เอื้อประโยชน์ ขอเวลาทำงานสักระยะยันไม่ล่าช้า
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ได้ร่วมกันดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลผู้เกี่ยวข้องในขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ หลังได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรแช่แข็ง ตั้งแต่ปี 2564 - ปัจจุบัน พบพยานหลักฐานตามสมควร จึงได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหากลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชน รวม 10 ราย จับกุมแล้ว 6 ราย และออกหมายจับกลุ่มนายทุน หรือผู้สั่งให้นำเข้าเนื้อหมู รวม 2 ราย ได้แก่ นายวิรัช ภูริฉัตร อายุ 69 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด (WEALTY & HEALTHY FOODS CO.,LTD.) และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด (THE GOOD SHOP CO.,LTD) และ นายธนกฤต ภูริฉัตร อายุ 42 ปี ลูกชาย
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 14 พ.ย. 2566 ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลอาญาออกหมายจับกลุ่มนายทุนหมูเถื่อน 2 ราย ได้แก่ นายวิรัช ภูริฉัตร และนายธนกฤต ภูริฉัตร เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีพฤติการณ์ชำระเงินหรือมีการทำธุรกรรมทางการเงิน สั่ง-จ่ายสินค้าให้บริษัทชิปปิ้งเอกชน 2 แห่ง เพื่อให้มีการนำเข้าซากสุกรแช่แข็งมายังราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย ทั้งยังมีสถานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด WEALTY & HEALTHY FOODS CO.,LTD. และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด THE GOOD SHOP CO.,LTD
...
ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ขยายผลตรวจค้นวัตถุพยาน พยานเอกสาร จนพบความเชื่อมโยงดังกล่าว ต่อเนื่องไปถึงการเข้าตรวจค้นห้องเย็นขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้สามารถอายัดเนื้อหมูเเช่เเข็งไว้ตรวจสอบได้เพิ่มอีก 75 ตัน ซึ่งมีพยานหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าทั้งสองพ่อลูกได้มีการเช่าห้องเย็นแห่งนี้ เพื่อฝากแช่เนื้อหมูเเช่เเข็งบางส่วน โดยที่ทั้งคู่ยังหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ ก่อนยินยอมประสานขอเข้ามอบตัวกับดีเอสไอในวันที่ 14 พ.ย. ผ่านการเดินทางด้วยอากาศยานมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 13.30 น. จากนั้นดีเอสไอได้เข้าควบคุมตัวตามหมายจับของศาล พร้อมแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ก่อนนำตัวมาสอบปากคำที่ห้องสอบสวน
พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ได้รับมอบตัว 2 ผู้ต้องหาเรียบร้อยแล้ว โดยทั้งคู่มีพฤติการณ์สั่งให้บริษัทชิปปิ้งเอกชนนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน 33 ตู้ จากทั้งหมด 161 ตู้ที่เราได้อายัดไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2564 เบื้องต้นทั้งคู่ให้ความร่วมมือดีในการจะให้รายละเอียดที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนรายละเอียดเชิงลึกต้องรอคณะพนักงานสอบสวนสอบปากคำเสร็จสิ้นก่อน ยอมรับว่าดีเอสไอพบพยานหลักฐานในคดีว่า ทั้งคู่มีการส่งเนื้อหมูต่างประเทศเหล่านี้ ไปที่ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ชื่อดังจริง ขณะที่ของกลางเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ได้ยึดจากห้องเย็นแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร จำนวน 75 ตัน หรือ 75,000 กิโลกรัม ก็จะใช้ในการสอบปากคำเช่นเดียวกัน และทั้งคู่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้เห็นว่า มีการสั่งให้นำเข้าหมูเถื่อนผ่านชิปปิ้งเอกชน ซึ่งตามพยานหลักฐานพบว่าไปเกี่ยวข้องกับชิปปิ้งเอกชนประมาณ 3-4 บริษัท (ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ดีเอสไอจับกุมแล้ว) และที่สำคัญทั้งคู่ต้องรู้ด้วยว่า เมื่อนำเนื้อหมูเข้ามาแล้วจะมีการส่งมอบหรือจำหน่ายหมูในลอตดังกล่าวไปที่ใดบ้าง
...
"ส่วนประเด็นเรื่องห้องเย็นที่สองพ่อลูกเข้าไปเช่าในการแช่เนื้อหมูเถื่อนนั้น มีประมาณ 2-3 แห่ง ทั้งนี้ สำหรับยอดเงินหมุนเวียน เบื้องต้นพบจำนวนหลักหลายร้อยล้านบาท ตนขอเรียนว่ากลุ่มนายทุนไม่ได้มีเพียงสองพ่อลูกคู่นี้แน่นอน ยังมีอีกและบางส่วนจะมีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อหมูเอง และเป็นผู้สั่งนำเข้าเองหรือรับหน้าที่เป็นชิปปิ้งเอง กล่าวง่ายๆ คือ เป็นทั้งนายทุนและชิปปิ้ง" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าว
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องข้อกล่าวหา สำหรับนายวิรัช และนายธนกฤต ในฐานะที่เป็นกลุ่มนายทุนหมูเถื่อน ได้ถูกแจ้งข้อหา โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นและนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 มาตรา 244 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 สำหรับคำให้การของสองพ่อลูกในวันนี้ จะนำไปสู่การขยายผลถึงกลุ่มบุคคลที่มีการจำหน่ายหมูไปยังที่ใดบ้าง
...
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวอีกว่า ประการต่อมาก็ คือ จะทำให้ดีเอสไอรู้ว่า กลไกการดำเนินการขั้นตอนการนำหมูเข้ามาภายในประเทศไทยเป็นอย่างไร และจากหลักฐานที่เราตรวจค้นได้ทั้งเส้นทางการเงินและวิธีการรูปแบบการนำเข้าหมูเถื่อน รวมถึงความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ เราขอเวลาในการทำงานเพื่อพิสูจน์ทราบให้ครบ บางส่วนในรายละเอียดเหล่านี้จะต้องใช้สอบปากคำอย่างละเอียดเช่นเดียวกัน ส่วนการจะอนุญาตให้ประกันตัวในขั้นสอบสวนวันนี้หรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของคณะพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชน ดีเอสไอได้ออกหมายจับรวม 10 ราย จับกุมได้แล้ว 6 ราย ส่วนอีก 4 รายอยู่ระหว่างหลบหนีอยู่ในประเทศไทย จะเร่งติดตามจับกุมตัวต่อไป
"ส่วนเรื่องการประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในเรื่องของการยึดทรัพย์สินนั้น เป็นขั้นตอนตามกฎหมายอยู่แล้ว เพราะในสองความผิดที่สองพ่อลูกถูกแจ้งนั้น ถือเป็นความผิดมูลฐานของการฟอกเงิน และเราได้แจ้ง ปปง. ประสานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องเส้นทางการเงินและเรื่องทรัพย์สิน ซึ่ง ปปง. รับเรื่องแล้วจะดำเนินการอายัดทรัพย์สินต่างๆ และเท่าที่ตนได้รับคำตอบจาก ปปง. ทราบว่าภายในเดือนนี้ ส่วนทรัพย์สินทั้งหมดคาดว่าอยู่ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดีเอสไอต้องตรวจสอบขยายผลอีก เพราะการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 รายนั้นส่งผลให้มีขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนเกิดขึ้น ยืนยันว่าดีเอสไอไม่ได้ดำเนินการล่าช้าเพราะข้อมูลละเอียดบางส่วนเป็นข้อมูลเชิงลึกในคดี บางเรื่องไม่สามารถนำมาเปิดเผยต่อพี่น้องสื่อมวลชนได้ แต่ในข้อเท็จจริง คณะพนักงานสอบสวนมีการรายงานเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว" พ.ต.ต.สุริยา กล่าว
...
ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม หัวหน้าพนักงานสอบสวน กล่าวว่า สำหรับขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน จริงๆ แล้วดีเอสไอสืบสวนสอบสวน และทราบทั้งหมดแล้วว่าบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง และเมื่อจับกุมได้ครบ ใครจะให้ปากคำอย่างไรก็ตามถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา แต่ดีเอสไอทราบเส้นทางการเงินและการทำธุรกรรมทั้งหมดแล้ว สำหรับกรณีของสองพ่อลูกที่เป็นนายทุนหมูเถื่อนนั้น ทั้งคู่รับหน้าที่เป็นนายทุนให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช และบริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด โอนจ่ายค่าตู้คอนเทนเนอร์ในอัตราประมาณ 15,000 บาทต่อตู้ รวมจำนวน 33 ตู้ และจากการตรวจค้นที่ผ่านมา พบพยานหลักฐาน พยานเอกสารที่บ่งชี้ชัดเจนว่าทั้งคู่เกี่ยวข้อง
หัวหน้าพนักงานสอบสวน กล่าว กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการรายงานว่าทั้งคู่เป็นผู้จัดส่งเนื้อหมูให้ศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่ง สินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ชื่อดัง เราก็จะตรวจสอบและขยายผลเช่นเดียวกัน เมื่อควบคุมตัวทั้งสองพ่อลูกได้แล้ว คณะพนักงานสอบสวนจะสอบถามว่าสินค้าที่มีการสั่งเข้ามา หรือเนื้อหมูต่างๆ ได้ดำเนินการส่งไปยังใครอีกบ้าง เนื่องจากทั้งคู่ทำธุรกิจลักษณะนี้มาก่อนแล้ว อีกทั้งในช่วงที่หมูระบาดเมื่อปี 2564-2565 เกิดเหตุการณ์หมูขาดแคลน แต่กลับมีการสั่งเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามาในไทย และสำแดงเท็จเป็นเนื้อปลาแช่เเข็ง หรือบางครั้งก็สำแดงเป็นพลาสติกพอลิเมอร์ เพราะถ้าสำแดงเป็นเนื้อปลาแช่แข็ง ผู้ประกอบการก็จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และสามารถผ่านช่องกรีนไลน์ (Green Line) ได้เช่นเดียวกับพลาสติกพอลิเมอร์ แต่ถ้าสำแดงเป็นเนื้อหมู จะต้องผ่านช่องเรดไลน์ (Red Line) และเมื่อนำเข้ามาแล้วก็จัดเก็บไว้ตามห้องเย็นต่างๆ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น ซึ่งถ้าหากห้องเย็นใดเต็มแล้ว ก็จะนำไปฝากแช่ไว้ที่อื่นแทน
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า กรณีของสองพ่อลูก ดีเอสไอพบว่ามีการนำเนื้อหมูส่วนต่างๆ ไปแช่ไว้ที่ห้องเย็น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท แอล อาร์ ห้องเย็น จำกัด ถนนธรรมคุณากร ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จึงตรวจยึดเนื้อหมูได้ 75 ตัน หรือ 75,000 กิโลกรัม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ของกรมปศุสัตว์ ส่วนห้องเย็นอีกแห่ง อยู่ใกล้กับห้องเย็นแห่งนี้ ห่างเพียง 5 กิโลเมตร จากนี้ดีเอสไอก็จะมีการเข้าตรวจค้นเช่นเดียวกัน แต่ขอละเว้นการเปิดเผยรายละเอียดไว้ก่อน สำหรับผู้ต้องหาในกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่ได้มีการออกหมายจับไป 3 บริษัท (หรือ 4 ราย) คาดว่าไม่เกินวันที่ 15 พ.ย. ดีเอสไอจะสามารถได้ตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาสอบปากคำขยายผลต่อไป อีกทั้งสิ้นเดือน พ.ย.นี้ คณะพนักงานสอบสวนเตรียมขอศาลออกหมายค้นและออกหมายจับอีก 2 บริษัท ซึ่งมีบทบาทเป็นทั้งบริษัทชิปปิ้งเอกชนและนายทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ดีเอสไอได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติออกหมายจับกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนเพิ่มเติมอีก 3 บริษัท (หรือบุคคล 4 ราย) ประกอบด้วย 1.นายพิเชฐ แซ่ซี (บริษัท ซี เวิรล์ โฟรเซ่น ฟูด จำกัด) 2.นายโกญจนาท ศรมยุรา (บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด) 3.นายสมนึก กยาวัฒนกิจ (บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด) และ 4.นายวีรศักดิ์ กิตนัทธี (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์) ในความผิดฐานนำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จะถูกคุมตัวมาสอบปากคำในวันที่ 15 พ.ย. 2566