มวลน้ำเหนือไหลบ่าลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยา กระทบกับปลากระชังของเกษตรกรชาวชัยนาท เพราะน้ำสีแดงขุ่นทำให้ปลาขาดออกซิเจนทยอยตายทีละหลายสิบตัว หากเป็นแบบนี้ต่อปลาจะตายหมดและขาดทุนยับเยิน ตอนนี้จึงต้องดูแลใกล้ชิด ลดอาหารลง และเติมออกซิเจนช่วย
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลน้ำจากภาคเหนือที่ไหลบ่าลงสู่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ และมีอัตราไหลผ่านวัดได้สถานีวัดน้ำ C2 (เจ้าพระยา) อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ วัดอัตราน้ำไหลผ่านล่าสุดวันนี้ 1,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ที่ตำบลหาดทะนง ตำบลเกาะเทโพ และตำบลท่าซุง มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีก มวลน้ำที่ไหลบ่าดังกล่าวแม้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเกิดอุทกภัยอันใกล้นี้
...
อย่างไรก็ตาม น้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมามีสีขุ่นแดงอย่างเห็นได้ชัด จึงส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ดังกล่าว อย่างพื้นที่บ้านท่ารากหวาย ตำบลเกาะเทโพ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี หลายร้อยกระชังได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ปลาที่เลี้ยงไว้ในกระชังหลายชนิด เช่น ปลาทับทิม ปลาเทโพ ปลาสวาย ปลาสังขวาส เริ่มทยอยตายทุกวัน วันละหลายร้อยตัว
เกษตรกรผู้เลี้ยงเลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่แห่งนี้ กล่าวว่า มวลน้ำที่ไหลบ่ามาและมีสีขุ่นแดงอย่างเห็นได้ชัดอย่างที่เห็นในภาพ เกิดขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ส่งผลให้ตะกอนเกาะเหงือกปลาที่เลี้ยงไว้ รวมทั้งทำให้น้ำขาดออกซิเจน ปลาจึงปรับสภาพน้ำไม่ทันจึงทยอยตายกระชังละกว่า 10 ตัว ทั้งหมดเลี้ยงไว้ จำนวน 7 กระชัง กระชังละ 1,200 ตัว และปลาทั้งหมดมีทั้งได้ขนาด และยังไม่ได้ขนาด หากคิดเป็นเงินที่จะต้องขายได้ก็เป็นเงินวันละกว่า 1 พันบาท
ทุกวันตอนเช้าต้องตักปลาที่ลอยตายเกลื่อนในกระชังออก เอาไปทำปุ๋ยหมัก และต้องติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนลดความเสียหาย นอกจากนี้ยังต้องชักรากกระชังปลาให้ชิดริมฝั่งแม่น้ำให้มากที่สุด เพื่อป้องกันน้ำที่อาจจะไหลเชี่ยวไปมากกว่านี้ ไม่ให้ตาข่ายกระชังปลาขาดจนปลาหลุดออกจากกระชังเสียหายเพิ่มไปอีก อย่างไรก็ตามหากสภาพน้ำยังเป็นสีขุ่นแดงและมีตะกอนแบบนี้ คาดว่าปลาหลายชนิดที่เลี้ยงไว้ในกระชังจะต้องตายเพิ่มอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ตัวเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจะขาดทุน จนต้องเป็นหนี้เป็นสินกับการที่กู้เงินมาลงทุนในครั้งนี้ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ จึงต้องเร่งจับปลา ปลาทั้งได้ขนาดและไม่ได้ขนาดขายให้หมด และการขายต้องรอคิวจับปลาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ตอนนี้ต้องประคับประคองไม่ให้ปลาตายไปมากกว่านี้ ด้วยการให้อาหารปลาให้น้อยลง และหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด.