อีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างของสตูล ที่นอกจากทำ "ปลาเค็มกางมุ้ง" ที่ปลอดสารเคมีแล้ว ยังทำเกษตรผสมผสาน โดยนำเอาน้ำล้างปลาเทใส่บ่อผักบุ้งแก้วเป็นปุ๋ยแล้ว ยังนำมารดต้นมะพร้าวอ่อนด้วย ขณะที่ผักบุ้งที่แก่ก็นำไปสับทำอาหารสัตว์ จนมีรายได้หลักแสนต่อเดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.สตูล พบเกษตรกรตัวอย่างอีกราย ที่นำสิ่งเหลือใช้จากธุรกิจไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด โดย นางสุไหวบ๊ะ ดาแลหมัน พื้นที่บ้านควนสไน ม.9 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียก “กะบ๊ะ” ทำปลาเค็มกางมุ้งหรือปลาเค็มปลอดสาร ทั้งปลาเค็ม ปลาแดดเดียว และปลาเค็มเนื้อส้ม แต่ละสัปดาห์ใช้ปลาในการทำปลาเค็มถึง 2,000 กก. นอกจากทำปลาเค็มปลอดสารแล้ว น้ำล้างปลา ยังทำเป็นปุ๋ยใส่ในบ่อที่ปลูกผักบุ้งแก้ว และนำไปใส่โคนต้นมะพร้าวอ่อน ส่วนผักบุ้งที่แก่ก็นำไปเลี้ยงปลานิล เลี้ยงแพะ และไก่ เรียกว่าทุกอย่างใช้ประโยชน์เอื้อกันอย่างคุ้มค่า ไม่ทิ้งให้เสียประโยชน์
...
นางสุไหวบ๊ะ หรือ กะบ๊ะ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำปลาเค็มกางมุ้ง เนื่องจากครอบครัวของตนเป็นครอบครัวยากจน ถูกเลี้ยงมาด้วยอาหารหลัก คือ ปลาเค็ม ทำให้ตนชอบกินปลาเค็ม เมื่อมีครอบครัวตนก็ยังชอบกินปลาเค็ม แต่เมื่อไปซื้อปลาเค็มในตลาดมากินปรากฏว่าปากพอง จึงคิดว่าอาจแพ้สารเคมีที่ใส่ในปลาเค็ม จึงคิดว่าอาจไม่ได้กินปลาเค็มอีกแล้ว ซึ่งสามีบอกว่าหากอยากกินก็ต้องทำเอง ดังนั้นตนจึงทำปลาเค็มกินเอง โดยนำไปตากหน้าบ้าน บางทีเพื่อนบ้านเห็นก็ขอไปกินตัว 2 ตัว จนกระทั่งทำไปงานแต่งงานมากถึง 20-30 กิโลกรัม แล้วมีคนบอกว่าอร่อยให้ทำไปขาย
จากนั้นตนก็เริ่มทำไปขาย จากวันละ 20-30 กก. ปัจจุบันทำมา 16 ปีแล้วทำสัปดาห์ละ 2,000 กิโลกรัม หรือ 2 ตัน จากเริ่มต้นที่ตากปลาเค็มหน้าบ้าน ตอนนี้ทำเป็นโรงเรือนกางมุ้ง เพราะปลาเค็มของตนปลอดสาร ไม่ใส่สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น จึงต้องกางมุ้งป้องกันแมลงวันวางไข่ ไม่ให้ปลาเค็มเป็นหนอน เพราะปลาเค็มของตนเป็นปลาที่ไม่เค็มมาก ตอนนี้ ทำทั้งปลาเค็ม ปลาแดดเดียว และปลาเค็มเนื้อส้ม ซึ่งปลาเค็มเนื้อส้มถือว่าขายดีที่สุด ผู้ซื้อจะชอบซื้อไปทอด ซอยหอม พริก บีบมะนาวเล็กน้อย กินกับข้าวสวยร้อนๆ จะอร่อยมาก สำหรับวัตถุดิบที่นำมาทำปลาเค็ม ประกอบด้วย ปลาจวด ปลาสีเสียด ปลาหางแข็ง ปลาหลังเขียว ปลาสละ ซึ่งเป็นปลาตัวใหญ่ ขณะที่ ปลาหลังเขียวจะขายดีที่สุด
...
ด้าน การจำหน่าย ตลาดหลักๆ จะขายส่ง มีแม่ค้าจากอำเภอต่างจังหวัดมารับไปขาย และตนไปขายเองตามตลาดนัดต่างๆ วันละ 200-300 กก. จะหยุดเฉพาะวันอังคารและพฤหัสบดี โดยปลาเค็ม 100 กก. เมื่อทำเป็นปลาเค็มจะเหลือ 55-60 กก. ปลาหางแข็งขาย กก.ละ 70-80 บาท หากเป็นตัวใหญ่จะขาย กก.ละ 100 บาท ปลาสีเสียด กก.ละ 90 บาท และ ปลาหลังเขียว กก.ละ 70 บาท ปลาของตนที่ได้รับความนิยมเพราะนอกจากสะอาดแล้วปลอดภัยด้วย เพราะตนใส่ใจต่อผู้บริโภคทำเหมือนกินเองในครอบครัว ในแต่ละสัปดาห์จะมีรายได้จากการขายปลา ยังไม่หักค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 140,000 บาท
ส่วนน้ำดองปลาตนจะใส่ในบ่อบำบัด ส่วนน้ำล้างปลาตนจะทำเป็นปุ๋ยใส่ในบ่อผักบุ้งแก้ว ซึ่งเก็บขายทุกวัน โดยผักบุ้งแก้วมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท และนำไปรดโคนต้นมะพร้าวอ่อนด้วย เศษผักจะนำไปเลี้ยงปลา เลี้ยงแพะและไก่ ทุกอย่างจะเป็นรายได้ทั้งหมด จนกลายเป็นที่ศึกษาดูงานของนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ และชุมชนอื่นที่มาดูงาน ของที่ทำทุกอย่างมีรายได้ที่เอื้อกันหมด ไม่เหลือทิ้งให้เปล่าประโยชน์.