ชาวนาที่ ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง เจอภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนานจนทำนาปีไม่ได้ ขณะที่แท็งก์น้ำบนเขายังไม่เสร็จ ต้องรองบประมาณ วอนกรมส่งเสริมการเกษตรช่วยแนะนำการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และหาตลาดด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมาแล้วกว่า 2 เดือน แต่ผืนนากว่า 200 ไร่ ในพื้นที่บ้านหนองขาม หมู่ 8 ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กลับแห้งแล้งจนดินขาวโพลน ชาวบ้านไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ เนื่องจากปริมาณน้ำฝน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ยังไม่ตกลงมาให้เกษตรกร ได้เริ่มทำนาเหมือนเช่นเคย
นางอำภา จันดาเปรม อายุ 66 ปี ชาวบ้าน ต.เขาขลุง เผยว่า ตนและชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งซ้ำซากมาแล้วหลายสิบปี ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นที่ดอน และอยู่นอกเขตระบบชลประทาน ส่งผลให้ทำนาได้แค่ปีละครั้ง โดยอาศัยน้ำฝนซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เกษตรกรต่างช่วยเหลือตัวเองด้วยการขุดสระขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้นานเพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดทั้งปี ที่เห็นอยู่ในตอนนี้เหลือน้ำเพียงก้นสระเท่านั้น ไม่สามารถนำขึ้นมาทำการเกษตรได้ และในปีนี้ก่อนเข้าช่วงฤดูฝน ชาวนาในพื้นที่ต่างไถพรวนเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวนาปี แต่ทว่าความตั้งใจต้องสลาย หลังผ่านมาแล้วเกือบกลางฤดู ฝนก็ยังไม่ตกลงมาเสียที ทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวได้ในปีนี้ ส่งผลต่อรายได้ในการเลี้ยงปากท้องของครอบครัว
...
ด้าน นายธำรง อดิเรกลาภ อายุ 60 ปี สมาชิก อบต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่ ต.เขาขลุง ประกอบไปด้วยพื้นที่ลุ่มและที่ดอน ลักษณะดินเป็นดินทรายไม่สามารถอุ้มน้ำได้ อีกทั้งยังตั้งอยู่ในเขตที่มีภูเขา ได้รับลมมรสุมไม่เต็มที่ มีฝนตกน้อย บางครั้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านได้นำปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเข้าร้องเรียนกับ สส.ในพื้นที่ผ่านไปยังสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมชลประทานตาม โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ และก่อสร้างอาคารถังพักน้ำ ขนาดความจุ 500 ลบ.ม. จำนวน 4 ถัง เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแผนก่อสร้างระยะที่ 1 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนระยะที่ 2 อยู่ระหว่างเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อก่อสร้างระบบส่งน้ำให้กับพื้นที่หมู่ 8 ต.ขาขลุง และบริเวณใกล้เคียง ประมาณ 3,161 ไร่
อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทาง อบต.เขาขลุง ประสานขอความอนุเคราะห์ทำฝนหลวงในพื้นที่ แต่ทว่าสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ชาวบ้านมองเห็นก้อนเมฆสีดำปกคลุม แต่ก็ถูกกระแสลมพัดฝนไปตกที่อื่นหมด ทำให้มีปริมาณน้ำฝนไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้นชาวบ้านอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนช่วยเหลือสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน รวมไปถึงกรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่มาให้ความรู้ด้านพืชที่ใช้น้ำน้อย รวมไปถึงหาตลาดจำหน่ายให้กับเกษตรกรด้วย.