กรมทรัพย์สินฯ ประกาศขึ้นทะเบียน "ปลาทูแม่กลอง" เป็นสินค้า GI สมุทรสงคราม ด้านอดีตประธานหอการค้า ผู้ยื่นขอจดทะเบียน เผยถือเป็นอีก 1 ความสำเร็จ ชูกระบวนการนึ่งปลาทูนั่งจับยัดลงเข่งของแท้ต้องหน้างอคอหัก
จากกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ หรือ GI ปลาทูแม่กลอง เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อจากส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม และพริกบางช้าง เพื่อยกระดับสินค้าในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้าเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคนั้น
นายสัมพันธ์ พงษ์พรรณากูล อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ประธานหอการค้ากลุ่มภาคกลางตอนล่าง 2 ผู้ยื่นขอจดทะเบียน GI ปลาทูแม่กลอง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ปลาทูแม่กลอง ได้ขึ้นทะเบียน GI ได้สำเร็จ ซึ่งทำเรื่องนี้มาโดยตลอด มองถึงอาชีพชาวสมุทรสงคราม ซึ่งมี่ความเชี่ยวชาญในการนึ่งปลาทูจนเป็นที่ยอมรับทั่วประเทศ และเมื่อปี พ.ศ. 2553 ในสมัยที่ตนเป็นประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ยื่นขอจดทะเบียน GI ปลาทูแม่กลอง จากนั้นก็ได้ติดตามมาโดยตลอด
...
อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวต่อว่า แม้จะเกิดปัญหาเรื่องปลาทูในทะเล ถูกมองว่าหาขึ้นทะเบียนแต่เพียงผู้เดียว จะกระทบต่อจังหวัดชาวฝั่งทะเลอื่นๆ ที่อ้างว่าปลาทูว่ายไปทั่วท้องทะเลอ่าวไทย จึงมีการตกลงกันว่าจดทะเบียนเฉพาะเรื่อง การนึ่งปลา เป็นกระบวนการนึ่งปลาทูของชาวสมุทรสงคราม ที่เป็นภูมิปัญญาโบราณ จนเป็นที่ยอมรับในฝีมือการนึ่ง และได้มีการประชุมหารือ จนเสร็จสิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 กระทั่งมีการจดทะเบียน GI ปลาทูแม่กลอง สำเร็จในวันนี้
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า "ปลาทูแม่กลอง" เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน มีแหล่งอาศัยในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเลบริเวณปากน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเล ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร ทำให้ปลาทูแม่กลองมีลำตัวกว้าง แบน สั้น ผิวหนังขาวเงินมันวาว มีแถบสีน้ำเงินแกมเขียวหรือแถบสีเหลือง ครีบหางสีเหลืองทอง มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านรสชาติและรูปร่าง
...
"โดยเนื้อปลาทูที่นึ่งแล้วจะมีความละเอียดนุ่ม เนื้อแน่น หอม และมันมาก เมื่อนำมาบรรจุลงในเข่งจะมีลักษณะหน้างอ คอหัก ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายจนมีคำกล่าวที่ว่า "ปลาทูแม่กลองของแท้ จะต้องหน้างอ คอหัก" บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากปลาทูบริเวณอื่น" อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าว
...
นายสัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปลาทูแม่กลอง เราทำเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยโปรโมตผ่านการจัดงาน เทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ได้เล่าเรื่องปลาทูแม่กลอง มาตลอดทุกปี จะมีชื่อตอนต่างๆ เป็นความรู้และปริศนาธรรมต่างๆ เพื่อผู้ที่มาเที่ยวงานเทศกาลกินปลาทูจะได้ จดจำและมาชิมปลาทูแม่กลองทุกปี โดยจัดอย่างยาวนานถึง 24 ปี และในปี 2566 นี้ ถือว่าเป็นการจัดงานเทศกาลกินปลาทู ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 8-17 ธันวาคม 2566 นับเป็นงานเทศกาลที่มีชื่อเสียง และได้รับการประชาสัมพันธ์จากภาคส่วนต่างๆ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 12 ล้านบาทต่อปี.