ผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สตูล ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ เพราะการนำเข้ากุ้งต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรถูกบีบให้ขายในราคาถูก วอนภาครัฐเร่งช่วยเหลือ ดึงราคากุ้งไทยให้สูงขึ้น
นายประพาส ไพรพฤกษ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง พื้นที่ อ.เมือง จ.สตูล กล่าวว่า ขณะนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สตูล ที่มีอยู่กว่า 200 ราย ได้รับความเดือดร้อนจากราคากุ้งที่ตกต่ำในลักษณะที่ผิดปกติ และราคาในแต่ละแห่งไม่เท่ากัน โดยเฉพาะที่เดือดร้อนหนักในโซนภาคใต้ตอนนี้ คือ จ.สตูล ปัตตานี และสงขลา ที่ราคาลดลงชนิดที่ต่ำกว่าต้นทุนมากจนเกษตรกรแทบจะแบกภาระไม่ไหว ซึ่งราคากุ้งเริ่มดิ่งลงตั้งแต่ทางภาครัฐเปิดให้มีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ทำให้กุ้งไทยราคาตก ทั้งที่กุ้งไทยเองถือเป็นกุ้งเกรดพรีเมียมในการส่งออกไปต่างประเทศ
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากราคาแหล่งเลี้ยงกุ้งในไทย กุ้งจาก จ.ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ขนาด 40 ตัวต่อ กก. อยู่ที่ 185 บาท ขณะที่กุ้ง จ.สตูล ราคา กก.ละ 165 บาท และต้นทุนอยู่ที่ 172.40 บาท ราคากุ้งขนาด 50 ตัว/กก. ราคา 153 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 160.85 บาท ขนาด 80 ตัว/กก. 115 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 135.31 บาท จะเห็นได้ว่าราคากุ้งกับต้นทุนการผลิตไม่สมดุลกัน และต่ำกว่าต้นทุนมาก
...
นายประพาส กล่าวอีกว่า ผู้เลี้ยงกุ้ง จ.สตูล จึงได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์ ผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสตูล ให้หาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ที่ได้รับผลกระทบราคากุ้งตกต่ำอย่างเร่งด่วน เพื่อความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกร จนกว่าราคากุ้งจะดีขึ้น ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สตูล จากเดิมมีกว่า 500 ราย ขณะนี้รายเล็กๆ ต่างต้องหยุดเลี้ยงจนเหลือแค่กว่า 200 ราย
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ หากภาวะตกต่ำไม่ดีขึ้น อาจจะยอมเลิกกิจการกันหมด เพราะเราประสบภาวะขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว หากรัฐยังคงนิ่งเฉย เราคงต้องมีการเคลื่อนไหวร่วมกับจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ อาจจะรวมตัวกันที่ จ.สงขลา เพื่อเรียกร้องให้ลดการนำเข้ากุ้งต่างประเทศ เพื่อให้ราคากุ้งไทยได้ขยับราคาให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ต่อไป.