เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน จ.กำแพงเพชร ดีใจหลังมีผู้ค้าเข้าเจรจาให้ส่งออกโคขุนปีละ 1 แสนตัว ไปโรงเชือดที่เมืองเมิงล่าเฉิงคัง ประเทศจีน หลังขาดทุนเรื้อรังจากการขาย และต้นทุนที่แบกรับมานาน คาดว่าราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ กก.ละ 93-95 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด เลขที่ 49 ม.11 ต.หินดาด อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานตลอดทั้งปีที่ผ่านมาให้สมาชิก จำนวน 707 ราย ได้รับทราบ พร้อมเลือกคณะกรรมการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีเกษตรกรจากหลายพื้นที่ใน อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อไทยเข้าร่วม ซึ่งเป็นการสร้างรายได้หลักหล่อเลี้ยงครอบครัว และขับเคลื่อนอาชีพเพื่อพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนของประเทศไทยให้สอดคล้องกับนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” และ “เอกชนนำ รัฐหนุน” ของกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล

นอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้ว ยังเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ที่จะมีช่องทางการขายวัวของตนเองไปสู่ตลาดในประเทศจีน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดนมี นายจ้าวจื้อซิ้น (Zhao zhi xin) ผู้บริหารและคณะจากโรงเชือดโคขุน เมิงล่าเฉิงคัง ประเทศจีน มาดูคอกเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์และสมาชิกที่ร่วมโครงการ โดยโรงเชือดดังกล่าวเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ ที่มีกำลังการเชือดโคขุนถึง 5 แสนตัวต่อปี โดยในปีนี้มีโควตานำเข้าโคขุนและกระบือ จากประเทศไทย ประมาณ 50,000–100,000 ตัว ทั้งนี้ เตรียมแผนดำเนินการในรูปแบบอุตสาหกรรมส่งออก ที่ต้องการโคขุนลูกผสมยุโรป หรือบราห์มัน และกระบือ อายุไม่เกิน 3 ปี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 450 กิโลกรัม และไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม จากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GAP สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ไม่มีร่องรอยโรคต้องห้ามและสารเร่งเนื้อแดง

...

ที่ผ่านมาโรงเชือดดังกล่าว ได้มีการซื้อโคขุนจาก สปป.ลาว ของเกษตรกรที่ผ่านการเลี้ยงมาแล้ว และต้องการขยายการซื้อกับ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด ได้ร่วมกับ บริษัท กสิกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (คิงส์โรมัน) และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร ผลักดันให้มีการต่อยอดการบริหารจัดการการเลี้ยงโคขุนของสมาชิกในทุกขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเลี้ยง การดูแลป้องกันโรคต้องห้าม ไปจนถึงการนำส่งออกสู่โรงเชือดโคขุน เมิงล่าเฉิงคัง ประเทศจีน โดยคาดว่าราคาหน้าฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนจะอยู่ที่ราคา 93-95 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลดีให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้น

นายสมประสงค์ ยอดยิ่ง ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนจากโรงเชือดโคขุน เมิงล่าเฉิงคัง ประเทศจีน และ บริษัท กสิกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (คิงส์โรมัน) เดินทางมาเจรจาเรื่องราคาซื้อขายร่วมกัน โดยในอนาคตจะส่งออกวัวไปยังโรงเชือดที่ประเทศจีน โดยขณะนี้สมาชิกที่เลี้ยงโคขุนตอนนี้คำนวณแล้วจะได้วัวกว่า 100,000 ตัว ต่อปี และราคาขายหน้าคอกวัวอยู่ที่ 93-110 บาท ขึ้นอยู่ที่แต่ละสายพันธุ์ เราเป็นตัวแทนในการส่งออกโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สำหรับการลงพื้นที่วันนี้ของคณะผู้บริหารโรงเชือดจากประเทศจีนก็มีความพึงพอใจในสินค้าของเรา ทั้งนี้ราคานั้นต้องขึ้นอยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่การเจรจาวันนี้โดยรวมเป็นไปด้วยดี 

...

ด้าน นายนรสีห์ สุดวิลัย สหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร จะมีส่วนในการกำกับดูแลช่วยเหลือ เพื่อการเชื่อมโยงธุรกิจที่จะส่งมอบวัวของสมาชิกไปสู่ผู้ค้า ซึ่งเบื้องต้นเป็นแนวโน้มที่ดี โดยจากนี้ สหกรณ์ก็จะต้องมีหน้าที่หาวัวที่มีคุณภาพดีส่งออกสู่ผู้ค้าให้ได้ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนมีรายได้เพิ่มขึ้นและสภาพชีวิตที่กินดีอยู่ดี

ขณะที่ นายธวัชชัย แถวถาทำ ปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ในส่วนของกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร มีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งจะเข้ามาดูแลในส่วนของการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งต้นทุนการผลิตหลักอยู่ที่อาหารสัตว์ ซึ่งจากนี้ต้องใช้เทคโนโลยีทางด้านโภชนศาสตร์สัตว์ เข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนและสร้างกำไรให้กับเกษตรกร ในส่วนของสุขภาพสัตว์เราได้จัดสัตวแพทย์ และปศุสัตว์อำเภอเข้ามาดูแลโรคต้องห้ามเป็นประจำอยู่แล้ว 

...

นายธันฐกรณ์ ณ นคร ประธานสหกรณ์การเกษตรและปศุสัตว์กำแพงเพชร กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เรามีสมาชิกที่มีความชำนาญในการเลี้ยงวัวโคขุน และวัวเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีการผลักดันให้ทำการผลิตสินค้าให้เป็นมาตรฐาน GAP เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยขณะนี้มีสมาชิกที่สนใจเข้าโครงการกว่า 90 กว่า ครัวเรือน หรือคิดเป็น KPI (ดัชนีความสำเร็จ) เท่ากับ 90% ซึ่งในอนาคตจะต้องสร้างให้เป็นต้นแบบของการส่งออกที่ยั่งยืน

ส่วน นางกัลยา เทียบเทียม อายุ 50 ปี ชาวบ้าน ม.11 ต.หินดาด อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร หนึ่งในเกษตรกรที่เลี้ยงโคขุนมานานกว่า 15 ปี กล่าวว่า ส่วนตัวยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะมีตลาดการรับซื้อโคขุนที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวตนเองได้ ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของต้นทุน และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จนต้องหันมาเลี้ยงโคขุน โดยจากนี้สหกรณ์ที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่จะช่วยเหลือผลักดันให้ตนได้มีรายได้จุนเจือครอบครัวที่ดีขึ้น 

เช่นเดียวกับ นางสายรุ้ง สุวรรณลพ อายุ 42 ปี ชาวบ้าน ม.2 ต.หินดาด อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร เกษตรกรที่เลี้ยงโคขุนมานานกว่า 10 ปี กล่าวว่า นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก ที่ผ่านมาเราแย่มากต้องลงทุนกับต้นทุนที่สูงทั้งพันธุ์วัวและอาหารสัตว์ และขายวัวในราคาที่ขาดทุน จากนี้ไปมีตลาดที่มั่นคงก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถหล่อเลี้ยงอาชีพนี้เพื่อดูแลครอบครัวเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานต่อไปได้และหมดหนี้สิน. 

...