ชาวนาโคราช จำใจต้องตากข้าวเปลือกบนถนนหลวง และจัดเวรยามนอนเฝ้า ดูแลการจราจร วอนรัฐจัดหาที่ตากและให้โรงสีรับซื้อข้าวหอมมะลิ กก.ละ 14 บาท ชี้ ปัจจุบันขายได้เพียง 9-10 บาท ไม่คุ้มกับการลงทุน

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่บริเวณถนนรอยต่อระหว่างบ้านครบุรี อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา กับบ้านหายโศก ต.หายโศก อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ชาวนาใน อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา ต้องนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวแล้วมาตากบนถนนทางหลวง สายบ้านหายโศกถึงบ้านครบุรี อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นถนน 2 ช่องจราจร โดยชาวนาตากข้าวไป 1 ช่องจราจร แล้วเว้นช่วงให้รถยนต์หลบหลีกกันได้ และมีตำรวจบ้านคอยแบ่งเวรดูแลจราจรเป็นระยะๆ ส่วนชาวบ้านบ้านหายโศก อ.พุทไธสง จะกางเต็นท์นอนเฝ้ากองข้าวเปลือกในช่วงเวลากลางคืนให้

...

นายกัมปนาท เจนไธสง ผู้ใหญ่บ้านหายโศก หมู่ที่ 14 อ.พุทธไธสง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ที่ชาวบ้านต้องนำข้าวมาตากบนถนนหลวงเพราะในหมู่บ้านมีที่ตากไม่เพียงพอ เวลาเก็บเกี่ยวจะเป็นช่วงเวลาเดียวกัน และถ้านำข้าวเปลือกที่เพิ่งเกี่ยวเสร็จมาตากบนถนน เพราะพื้นถนนเป็นยางมะตอยมีความร้อน ข้าวก็จะแห้งเร็ว และจะแบ่งช่วงการตากให้รถยนต์สามารถหลบหลีกกันได้ พร้อมกับจัดตำรวจบ้านแบ่งเวรยามกันมาดูแลการจราจรด้วย

ผู้ใหญ่บ้านหายโศก หมู่ที่ 14 กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้ภาครัฐจัดหาที่ตากข้าวให้เพื่อความปลอดภัย และที่สำคัญ อยากให้ภาครัฐควบคุมการรับซื้อข้าวเปลือกของโรงสี ให้รับซื้อจากชาวนาในราคาที่เป็นธรรม อย่างน้อยข้าวจ้าวหอมมะลิ ให้รับซื้อที่กิโลกรัมละ 14 บาท เพราะปัจจุบัน ขายข้าวเปลือกจ้าวหอมมะลิได้เพียงกิโลกรัมละ 9-11 บาทเท่านั้น ถ้าหักค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าไถ ไร่ละ 200 บาท, ค่าไถปั่น ไร่ละ 250 บาท, ค่ารถเกี่ยว ไร่ละ 500 บาท, ค่าปุ๋ย กระสอบละ 1,100 บาท ซึ่งจะใช้ 2 ไร่ต่อ 1 กระสอบและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เมื่อรวมแล้วก็ขาดทุน ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจริงๆ

...

ในขณะที่บ้านครบุรี หมู่ที่ 1 ต.ละหานปลาค้าว อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา ชาวนาก็กำลังเร่งเกี่ยวข้าวที่เหลือจากรถเกี่ยวเสร็จ เพื่อนำไปตากภายในหมู่บ้าน เช่น ลานวัด พื้นที่สาธารณะหมู่บ้าน และพื้นที่ส่วนตัว ก่อนจะนำไปเก็บในยุ้งฉาง และเตรียมนำไปขายให้โรงสีในช่วงที่ราคาข้าวดี โดยส่วนหนึ่งจะเก็บไว้กินและเป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูทำนาปีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวจ้าวหอมมะลิ

...

ด้าน นายชง จงเพียร ชาวนาบ้านครบุรี อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา บอกว่า ตนเองเพิ่งเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จและขายให้กับโรงสี เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ค่าลงทุนในการทำนา เฉลี่ยแล้วก็ไม่คุ้มทุน จึงอยากให้รัฐบาลลงพื้นที่มารับฟังปัญหาของชาวนา และหามาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ให้ราคาข้าวมีราคาดีและชาวนาอยู่รอดได้ ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะจ่ายค่าเก็บเกี่ยวให้ไร่ละ 1,000 บาทนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนราคารถเกี่ยวข้าวที่ อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา ยังคงอยู่ราคาเดิม คือ ไร่ละ 500 บาท.