"รมว.นฤมล" มอบ "รมช.อิทธิ" ชี้แจงรัฐสภาเร่งแก้ปัญหาทุเรียนไปจีน พร้อมเผยรายชื่อ 6 ห้องแล็บไทยพร้อมให้บริการวิเคราะห์สาร BY2 ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 16 ม.ค. 2568 ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้ชี้แจงที่รัฐสภาเรื่อง การแก้ไขปัญหาทุเรียนจีนขอใบ test report สาร Basic Yellow 2 ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดวันนี้ ได้รับรายงานจาก นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มีหนังสือถึงสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ GACC แจ้งรายชื่อห้องปฏิบัติการได้รับการยอมรับความสามารถในการทดสอบสาร Basic Yellow 2 (BY2) ในทุเรียนผลสดส่งออกจากไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาเชียงใหม่ 2. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาสงขลา 3. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขากรุงเทพฯ 4. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา 5. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาสมุทรสาคร 6. บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย จำกัด (มหาชน) (AMARC)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า ห้องปฏิบัติการทั้ง 6 แห่ง ดังกล่าว พร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow 2 และแคดเมียม ได้ภายในวันที่ 17 ม.ค. 2568 และมีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์รวมกันได้ 700 ตัวอย่าง/วัน โดยการตรวจวิเคราะห์จะใช้ระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง คาดว่า ไทยจะส่งออกทุเรียนพร้อมมีเอกสารแนบผลวิเคราะห์ (test report) สาร Basic Yellow 2 และแคดเมียมได้ในวันที่ 20 ม.ค.นี้
...
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีห้องปฏิบัติการพร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow 2 และแคดเมียม เพิ่มอีก 4 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพในการให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow 2 และแคดเมียม รวมกันได้เพิ่มอีก 600 ตัวอย่าง/วัน จึงสามารถรองรับตัวอย่างการตรวจวิเคราะห์ทุเรียนรวมกันได้กว่า 1,300 ตัวอย่าง/วัน สามารถรับมือกับการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกและภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
ด้านนายรพีภัทร์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ได้กำหนดมาตรการ 4 ไม่ เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนไทย ในปี 2568 ได้แก่ 1. ไม่อ่อน 2. ไม่หนอน 3. ไม่สวมสิทธิ์ และ 4. ไม่มีสี ไม่มีสารเคมีต้องห้าม โดยมีเป้าหมาย Set Zero การใช้สี การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด ซึ่งหากสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร มีการตรวจพบสาร BY2 และสารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) และหากสารวัตรเกษตร และสารวัตร GMP ตรวจพบแล้วไม่ดำเนินคดีก็ต้องจัดการเช่นเดียวกัน ซึ่งได้ย้ำเตือนให้รองอธิบดีที่กำกับดูแล และผู้อำนวยการเขตต่างๆ หากพบผู้ปฏิบัติงานมีพฤติกรรมเห็นแล้วไม่เตือน หรือไม่ดำเนินคดี ในฐานะอธิบดีกรมวิชาการเกษตรก็จะดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกัน